โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเห็นว่าบริษัทซึ่งโจทก์รับโอนสิทธิและหน้าที่มา ได้นำค่าใช้จ่ายซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(13)(14) แห่งประมวลรัษฎากรมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะบัญชีปี 2495 ถึง 2500 จึงประเมินให้โจทก์นำภาษีที่ยังขาดอยู่ไปชำระโจทก์อุทธรณ์ แต่ก็ได้ชำระภาษีสำหรับรอบบัญชีปี 2495-2496 ตามคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรจำเลยต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์เสียเงินเพิ่มภาษีลดลงจากที่เจ้าพนักงานประเมิน โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง จึงขอให้เพิกถอนและให้จำเลยคืนเงินภาษีที่โจทก์ชำระไปแล้ว
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะที่นำเงินจำนวน 455,129 บาท ที่สำนักงานสิงคโปร์เรียกเก็บจากโจทก์มาเป็นเงินได้พึงประเมินนั้นเสียโดยให้ถือว่าเป็นรายจ่ายที่ไม่ต้องห้าม ในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(13)(14) และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีจำนวน 727,340.86 บาท กับภาษีที่ประเมินจากจำนวนเงิน455,129 บาทนั้นแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้อที่ว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 เพื่อเอาค่าภาษีรายพิพาทนี้ขาดอายุความหรือไม่เสียก่อนศาลฎีกาเห็นว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทุกรายมีหน้าที่ยื่นรายการที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้พร้อมด้วยบัญชีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายระบุไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และถ้ามีกำไรสุทธิก็ต้องชำระเงินภาษีที่ต้องเสียต่ออำเภอพร้อมกับรายการที่ยื่น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 65, 68, 69 และภายใน 5 ปีนับแต่วันยื่นรายการ เจ้าพนักงานมีเหตุควรเชื่อว่าผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตรงกับความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจทำการไต่สวนแล้วจะแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิม แล้วแจ้งจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีก็ได้ โดยอาจต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20ของเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นค่าภาษีอากรด้วยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 19, 20, 27 หรือถ้าผู้ยื่นรายการมิได้ลงรายการหรือลงไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงตามความจริงตามมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ เป็นเหตุให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียน้อยลง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีที่ขาดได้ตามมาตรา 71(2) ดังนี้ เห็นได้ว่าหากโจทก์ยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ทำให้จำนวนเงินค่าภาษีขาดไป ต้องถือว่าหนี้ค่าภาษีที่ขาดไปนี้ได้ถึงกำหนดชำระแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์ผู้เสียภาษีเงินได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรคือภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแต่ละปีตามภาษีรายพิพาทเป็นภาษีเงินได้สำหรับระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2495 ถึง พ.ศ. 2500 ซึ่งถึงกำหนดชำระภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2496, 30 พฤษภาคม2497, 30 พฤษภาคม 2498, 29 พฤษภาคม 2499, 30 พฤษภาคม 2500และ 30 พฤษภาคม 2501 ตามลำดับอายุความจึงเริ่มนับจากวันครบกำหนดชำระของแต่ละปีเป็นต้นไป เพราะเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันนั้น คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งคำสั่งประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้เพิ่มเมื่อวันที่ 26ธันวาคม 2505 ซึ่งนับอายุความตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระภาษีได้ถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินแล้วยังไม่เกิน 10 ปี และการที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งคำสั่งประเมินนั้น ถือได้ว่าเป็นการทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี เพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้องดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เพราะตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 ถ้าผู้ต้องเสียภาษีไม่เสียภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งเจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องเสียภาษี เพื่อนำเงินชำระค่าภาษีอากรที่ค้างได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาล ฉะนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ส่วนการที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2515 นั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ใช่คำสั่งประเมินเรียกเก็บภาษี เป็นเพียงข้อวินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องหรือไม่เท่านั้น เหตุนี้จะนับอายุความจากวันครบกำหนดชำระภาษีจนถึงวันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าเกิน 10 ปี ขาดอายุความดังที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่ และกรณีที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีนี้สืบต่อเนื่องกันมาซึ่งถือได้ว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ตามนัยมาตรา 175 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้รายพิพาทจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เงินจำนวน 455,129 บาท เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงานที่สำนักงานภาคสิงคโปร์ส่งมาช่วยสอนพนักงานสาขาในประเทศไทยเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะสำหรับระยะเวลาบัญชีปี 2495 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นเงินได้พึงประเมินภาษีอากรเพิ่มย่อมไม่ชอบส่วนรายจ่ายนอกจากนี้เป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(13)(14) ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 คืนภาษีที่ประเมินจากจำนวนเงิน 455,129 บาท จึงชอบแล้ว และศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ชำระเงินค่าภาษีจำนวนเงิน 1,283,087.40บาท เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2506 โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันเสียภาษี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 419 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เงินค่าภาษีจำนวนที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ชำระไปตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมิน และจำเลยที่ 1ไม่ยอมให้ทุเลาการชำระภาษีซึ่งฝ่ายจำเลยถือว่ามีสิทธิเรียกเก็บได้ตามกฎหมายและโต้เถียงเช่นนั้นตลอดมา จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยได้ทรัพย์มา โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกภาษีคืนจึงมิใช่ฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้อันอยู่ในบังคับที่จะใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4, 419
ส่วนในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินภาษีจำนวน 727,340.86บาท แก่โจทก์หรือไม่นั้น ได้ความว่าโจทก์ได้เสียภาษีเพิ่มตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้ทุเลาการชำระภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2495 และ 2496 รวมเป็นเงิน 1,283,087.40 บาท แต่ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้เสียภาษีเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2495 และ 2496 เพียง 555,746.54 บาท โจทก์ชำระภาษีเกินกว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไปเป็นเงิน 727,340.86 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินภาษีที่โจทก์ชำระเกินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้นำาภาษีที่โจทก์ชำระเกินไว้ไปเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่โจทก์จะต้องชำระสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2497 และ 2498 ได้เพราะตามประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติให้อำนาจไว้เช่นที่บัญญัติในมาตรา 18 ทวิ, 60 ทวิ ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการและภาษีที่เรียกเก็บให้ถือเป็นเครดิตของผู้ต้องเสียภาษีในการคำนวณภาษีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบ ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ ทั้งสิทธิเรียกร้องในหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่จะหักกลบลบหนี้กันมิได้ และการคืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์จำเลยที่ 1 ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
พิพากษายืน