โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๙๖ และสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโดยซื้อจากคุณหญิงภาษาปริวัตร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ จำเลยเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ตารางวาพร้อมกับบ้านเลขที่ ๙๗ จากคุณหญิงภาษาปริวัตรเพื่ออยู่อาศัย ต่อมาจำเลยผิดสัญญาโดยดัดแปลงแบ่งบ้านเลขที่ ๙๗ เป็นเลขที่ ๙๕ - ๙๗ - ๙๙ ให้ผู้อื่นเช่าช่วงโดยมิได้ได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่า โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว จึงฟ้องขอให้ขับจำเลยกับบริวารออกไปจากที่พิพาท ให้รื้อห้องแถวและเรือนที่ทำขึ้นออกไป พร้อมกับชำระค่าเช่าและค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ จำเลยเช่าที่ดินรา+นี้ ๕๐ ตารางวาปลูกบ้านเลขที่ ๙๓ อาศัย ส่วนบ้านเลขที่ ๙๑ พระสารศาสตร์ เป็นผู้เช่า ครั้นย้ายไปจำเลยได้เช่าต่อ โดยทำสัญญาเช่าลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๗๓ ต่อมาจำเลยให้เช่าช่วงจริง แต่ด้วยความเห็นชอบและยินยอมของเจ้าของเดิม จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า สัญญาเช่าแยกออกเป็น ๒ ส่วน ๆ ๕๐ ตารางวาจำเลยได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่าฯ โจทก์จะบอกเลิกสัญญาไม่ได้ สำหรับส่วนนอกจากที่กล่าวแล้วสัญญาเป็นอันระงับ
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า สัญญาระงับหมดให้ขับจำเลยและบริวาร และให้จำเลยรื้อถอนเรือนห้องแถวไป พร้อมกับใช้ค่าเสียหาย
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามคำพยานโจทก์ คือจำเลยเพิ่มได้ทำสัญญาเช่ากับคุณหญิงภาษาปริวัตรเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๗๓ นั่นเอง หรือแม้จะฟังว่าจำเลยเช่าที่ ๕๐ ตารางวามาก่อน แต่ภายหลังจำเลยมาเช่าบ้านที่พระสารศาสตร์เช่าเพิ่มขึ้น โดยทำสัญญาเช่ารวมเป็นฉบับเดียว ก็ย่อมเห็นชัดว่าการเช่าครั้งก่อนมารวมอยู่กับการเช่าครั้งหลัง นั่นก็คือสัญญาเช่าครั้งก่อนก็ย่อมระงับไป จะเถียงว่าสัญญาเช่าฉบับก่อนยังคงมีอยู่ไม่ได้ จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.