คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ทางโทรสารอ้างว่า เนื่องจากการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ไม่สามารถไปถึงที่ทำการศาลได้ทันตามเวลา และยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วัน โดยอ้างว่า ทนายโจทก์ติดต่อขอคัดถ่ายคำพิพากษาแล้ว แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ายังอยู่ที่งานหน้าบัลลังก์ จึงไม่สามารถทำอุทธรณ์ได้ โดยส่งมาทางโทรสาร ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 โจทก์ยื่นคำร้องฉบับจริงทั้งสองฉบับต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตยื่นคำร้องทางโทรสารว่า กรณีไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้กระทำได้ในศาลนี้ จึงมีคำสั่งยกคำร้อง และมีคำสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ว่า การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์จะต้องยื่นเสียก่อนสิ้นระยะเวลา ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุหรือพฤติการณ์พิเศษใด ๆ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการส่งคำคู่ความหรือเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโดยทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2550 ข้อ 6 กำหนดว่า "เว้นแต่จะมีประกาศของสำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การส่งคำคู่ความหรือเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลโดยทางโทรสาร ให้ส่งไปยังหมายเลขโทรสารที่กำหนดไว้ในประกาศของศาลนั้น ...." และข้อ 9 กำหนดว่า "เมื่อศาลใดมีความพร้อมที่จะรับคำคู่ความหรือเอกสารที่ส่งโดยทางโทรสารหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ให้ออกประกาศของศาลแจ้งหมายเลขโทรสารหรือที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของศาลนั้นให้ทราบทั่วกัน และหากมีความจำเป็นที่ศาลต้องกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้การปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย ก็ให้ศาลออกประกาศกำหนดวิธีการนั้นได้" ดังนี้ การส่งคำคู่ความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลทางโทรสารตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อศาลชั้นต้นมีความพร้อมที่จะรับคำคู่ความที่ส่งโดยทางโทรสาร และได้ออกประกาศแจ้งหมายเลขโทรสารของศาลชั้นต้นให้ทราบทั่วกัน มิใช่ว่าเมื่อข้อบังคับของประธานศาลฎีกาใช้บังคับแล้ว คู่ความจะส่งคำคู่ความไปยังหมายเลขโทรสารของศาลชั้นต้นได้ ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจสอบไปยังศาลชั้นต้นว่ามีการดำเนินการตามข้อ 9 ของข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการส่งคำคู่ความหรือเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโดยทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2550 แล้วหรือไม่ ได้รับแจ้งว่าศาลชั้นต้นยังมิได้ดำเนินการออกประกาศตามข้อ 9 ดังกล่าว ดังนั้น กรณีจึงยังไม่อาจนำเรื่องการส่งคำคู่ความทางโทรสารตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการส่งคำคู่ความหรือเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโดยทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2550 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ การที่ทนายโจทก์ส่งคำร้องขออนุญาตยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ทางโทรสาร และคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 ไปยังศาลชั้นต้น จึงไม่อยู่ในบังคับของข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการส่งคำคู่ความหรือเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งโดยทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2550 และถือไม่ได้ว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์นำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 มายื่นต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 จึงต้องถือว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์หลังจากที่สิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว โจทก์จะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของโจทก์อ้างเหตุว่าขอคัดถ่ายคำพิพากษาแต่ได้รับแจ้งว่ายังอยู่ที่งานหน้าบัลลังก์นั้น เมื่อตรวจดูคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์โดยให้เหตุผลว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เมื่อนับจากวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเกินกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาจากจำเลยได้อีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ย่อมสามารถคัดลอกผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวไปจัดทำอุทธรณ์ได้ โดยไม่จำต้องรอการคัดถ่ายคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีก กรณีจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์เองที่ไม่ดำเนินการดังกล่าว มิใช่เหตุสุดวิสัยดังวินิจฉัยข้างต้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าการจราจรติดขัดเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่เพราะมิใช่ข้อที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน