โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 6, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยทั้งสองคนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 5,000,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 3,333,333.33 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินคนละ 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาลหรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้องหรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาล...แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็สามารถที่จะลงลายมือชื่อเป็นผู้ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 ให้ผู้ต้องขังชายดำรงศักดิ์เป็นผู้เขียนอุทธรณ์ และผู้ต้องขังชายดำรงศักดิ์ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ท้ายฟ้องอุทธรณ์ โดยผู้ต้องขังชายดำรงศักดิ์มิได้เป็นทนายความ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำโดยพลั้งเผลอที่ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงผิดพลาดไป อันจะทำให้ฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง มีข้อบกพร่องเกิดขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ตรวจพบข้อบกพร่องว่ามีบุคคลซึ่งมิได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้น ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ที่ให้มีอำนาจในการเรียงฟ้องอุทธรณ์ เป็นผู้เขียนฟ้องอุทธรณ์และลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงในฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 สั่งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องเรื่องดังกล่าวในฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยที่ 2 แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดและเมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดี หลังจากที่แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวแล้ว ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 2 และให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยที่ 2 แก้ไขข้อผิดพลาดในเรื่องลงชื่อผู้เรียง แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี