โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองขับรถประมาท โดยจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวขวาที่สี่แยกตัดหน้ารถของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกันได้รับความเสียหายและมีผู้ได้รับอันตรายแก่กาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองต่างขับรถโดยประมาทลงโทษปรับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ขับรถโดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน กท.10 - 2898 ไปตามถนนสีลมมุ่งหน้าจะไปทางปลายถนนสีลม เมื่อไปถึงสี่แยกถนนสีลมตัดกับถนนมเหศักดิ์ - สุรศักดิ์รถโดยสารประจำทางที่จำเลยที่ 2 ขับไปนั้นได้ชนรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน พบ.70-0370 ที่กระบะซ้ายค่อนมาด้านหลัง ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่สวนมา แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนมเหศักดิ์ รถทั้งสองคันชนกับบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุ ตามแผนทีสังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.3 เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย และนางสมดีผู้โดยสารมากับรถโดยสารประจำทางได้รับอันตรายแก่กาย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้ขับรถโดยประมาทตามฟ้องด้วยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าขณะจำเลยที่ 2 ขับรถโดยสารประจำทางมาใกล้จะถึงสี่แยก จำเลยที่ 2 ย่อมจะเห็นรถบรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับกำลังเลี้ยวขวาที่สี่แยกดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะขับรถเลี้ยวขวาโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรแต่เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นได้ในระยะห่างและมีรถเลี้ยวขวานำหน้ารถจำเลยที่ 1 อยู่หลายคันจำเลยที่ 2 ควรจะใช้ความระมัดระวังในการขับรถให้มากขึ้น ไม่ใช่จำเลยที่ 2จะถือว่าตัวเองได้รับสัญญาณไฟเขียวให้ขับผ่านสี่แยกไปได้แล้ว จะขับอย่างไรตามใจชอบโดยไม่ระมัดระวัง หากมีรถคันใดขับตัดหน้า จำเลยที่ 2 ควรจะลดความเร็วลงและเตรียมห้ามล้อเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดชนกันขึ้น แต่จำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูงและไม่ได้ชะลอความเร็วของรถแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 สามารถที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดชนกันดังกล่าวได้ตามวิสัยของผู้มีอาชีพขับรถโดยสารประจำทาง แต่จำเลยที่ 2 หาได้ทำเช่นนั้นไม่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดฐานขับรถโดยประมาท พิเคราะห์แล้วในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุ เอกสารหมาย จ.3 และคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกพินิจ คำอิ่มพนักงานสอบสวนว่าตรงสี่แยกที่เกิดเหตุมีสัญญาณจราจร ขณะเกิดเหตุสัญญาณไฟจราจรใช้งานได้ ดังนั้นผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจร ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง ฯลฯ" และข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2ขับรถโดยสารประจำทางเข้าสี่แยกในอัตราความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขณะมีสัญญาณไฟจราจรสีเขียวให้รถทางตรงแล่นผ่านได้ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถบรรทุกเลี้ยวขวาเข้าถนนมเหศักดิ์ ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรตัดหน้ารถจำเลยที่ 2 เหตุที่รถทั้งสองคันชนกันเพราะจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจำเลยที่ 2 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขับรถโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ส่วนจำเลยที่ 2เป็นผู้ขับรถโดยปฏิบัติตามสัญญาณจราจรตามมาตรา 22(3) ซึ่งบัญญัติว่า"สัญญาณจราจรไฟสีเขียว ฯลฯ ให้ผู้ขับขี่ขับรถต่อไปได้ ฯลฯ" ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีสิทธิขับรถโดยสารประจำทางผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุไปได้โดยชอบ แต่ในขณะเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรโดยหยุดรถรอจนกว่าสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวจึงจะเลี้ยวขวาไปได้ ตามมาตรา 22(4)ซึ่งบัญญัติว่า "สัญญาณจราจรไฟสีแดงแสดงพร้อมกับลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยว ฯลฯให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถ ฯลฯ ไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้" ด้วย หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรโดยเคร่งครัดแล้ว รถทั้งสองคันจะไม่ชนกัน ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกประการหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูง ไม่ชะลอความเร็วของรถแต่อย่างใดและเตรียมห้ามล้อเสียแต่เนิ่น ๆ นั้น ก็ปรากฏตามข้อกำหนดเกี่ยวกับความเร็วของรถมาตรา 67 บัญญัติว่า "ผู้ขับขี่ต้องขับรถด้วยอัตราความเร็วตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง" และกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 6(พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 1บัญญัติว่า "ในกรณีปกติ ให้กำหนดความเร็วสำหรับรถดังต่อไปนี้
(1) สำหรับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัมหรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร ฯลฯ ไม่เกินชั่วโมงละ 60 กิโลเมตร" แต่การที่จำเลยที่ 2 ขับรถโดยสารเข้าสี่แยกที่เกิดเหตุในอัตราความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังได้วินิจฉัยมาแล้วเช่นนี้จึงเห็นได้ว่า จำเลยที่ 2ได้ลดความเร็วลงต่ำกว่าความเร็วในกรณีปกติ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ข้อ 1(1) ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วจึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 หาได้ขับรถตามใจชอบโดยไม่ระมัดระวังหรือขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ลดความเร็วลง ดังที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาไม่ จำเลยที่ 2 จึงมิได้ขับรถโดยประมาท
พิพากษายืน