คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 6, 16, 24, 25, 27, 29 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 6, 16, 19, 47, 57 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.179/2563 ของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง และสั่งริบอาวุธปืนยาวลูกกรด (CZ) ขนาด .22 Long Rifle และอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยว (Baikal) ขนาด 12 ของกลาง
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งคืนอาวุธปืนทั้งสองกระบอกของกลางแก่ผู้ร้องทั้งสอง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษากลับ ให้คืนอาวุธปืนยาวลูกกรด (CZ) ขนาด .22 Long Rifle ของกลางแก่ผู้ร้องที่ 1 และให้คืนอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยว (Baikal) ขนาด 12 ของกลางแก่ผู้ร้องที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นเจ้าของแท้จริงในอาวุธปืนยาวลูกกรด และผู้ร้องที่ 2 เป็นเจ้าของแท้จริงในอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวของกลางที่ศาลสั่งริบเนื่องจากเป็นทรัพย์ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 29 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดบัญญัติให้ริบอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้และยานพาหนะใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดเสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่ และตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 57 ก็บัญญัติให้ริบอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้... ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิดเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่ ส่วนการขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ ให้เจ้าของแท้จริงยื่นคำร้องขอต่อศาลที่สั่งริบในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปของการขอคืนของกลางในคดีอาญา และศาลจะสั่งให้คืนทรัพย์สินเมื่อเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 ((3) (9) (13) (16)), 24, 25, 27, 29 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 16, 19 (วรรคหนึ่ง), 47, 57 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว และสั่งริบของกลางรวมทั้งอาวุธปืนยาว 2 กระบอก การที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 29 บัญญัติให้ริบอาวุธปืน เครื่องมือ เครื่องใช้... เสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดหรือไม่ นั้น มิใช่เป็นการริบโดยเด็ดขาดเพราะจะเป็นการลงโทษบุคคลอื่นผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมิใช่ผู้กระทำผิดอาญา เนื่องจากริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาสถานหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 (5) ขัดกับหลักทั่วไปของการใช้กฎหมายอาญาที่ว่า บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของแท้จริงจึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งคืนทรัพย์ที่ถูกริบได้ สำหรับคดีนี้คือ การยื่นขอคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิด ฎีกาของโจทก์ที่ว่า สามารถริบทรัพย์สินของผู้อื่นที่มิได้กระทำความผิดได้แม้มีผลเท่ากับลงโทษผู้ที่มิได้กระทำความผิด และเป็นบทกฎหมายยกเว้นไม่นำมาตรา 33 และมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 จะรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หรือไม่ จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ริบอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้... เสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ อันเป็นบทบัญญัติยกเว้นไม่นำมาตรา 33 และมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวบัญญัติให้ศาลเป็นผู้สั่งริบทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด โดยการร้องขอโดยพนักงานอัยการเช่นเดิม แต่ก็ยังให้โอกาสเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำขอคืนได้มิได้ตัดโอกาสเจ้าของมิให้ขอคืน โดยการขอให้ริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 56 วรรคสอง และตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 109 วรรคสอง พนักงานอัยการสามารถร้องขอได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา กฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าของแท้จริงสามารถพิสูจน์ในทำนองเดียวกับการขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 โดยต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า ตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ในการกระทำความผิด อีกทั้งตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามบทบัญญัติมาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 109 วรรคสอง ดังกล่าว ไม่อาจนำมาบังคับใช้กับคดีนี้ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิดได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิร้องขอคืนของกลางได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าคดีอาญาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอคืนของกลางเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ฎีกาของโจทก์ในประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ครอบครองอาวุธปืนยาวลูกกรดของผู้ร้องที่ 1 จำเลยที่ 2 ครอบครองอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวของผู้ร้องที่ 2 โดยผู้ร้องที่ 1 เบิกความว่า นำอาวุธปืนไปฝากจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้นำกระสุนปืนไปด้วย เพราะจะเดินทางไปจังหวัดภูเก็ต 2 วัน เกรงว่าจะมีคนประทุษร้ายต่อทรัพย์เนื่องจากบ้านไม่มีรั้ว แต่ตอบโจทก์ถามค้านว่า บ้านตนอยู่ห่างบ้านจำเลยที่ 1 ประมาณ 2 กิโลเมตร บ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกเขยอยู่ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติที่เข้าไปล่าสัตว์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปล่าสัตว์เป็นประจำ แสดงว่าบ้านจำเลยที่ 1 อยู่ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติที่เกิดเหตุซึ่งมีสัตว์ป่าอยู่ และผู้ร้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เคยล่าสัตว์ป่าแต่ไม่ได้ล่าเป็นประจำ สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติคลองพนม บางครั้งจำเลยที่ 1 ต้องล่าสัตว์ป่าเป็นอาหาร แต่นาน ๆ จึงจะล่าสัตว์สักครั้ง ในวันเกิดเหตุเวลาใกล้ค่ำ จำเลยที่ 1 ยืมอาวุธปืนยาวลูกกรดของผู้ร้องที่ 1 ไปล่าสัตว์ ซึ่งให้การแตกต่างจากที่ผู้ร้องที่ 1 เบิกความ คำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 จึงมีข้อพิรุธน่าสงสัยในเรื่องการให้อาวุธปืนไปอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 และผู้ร้องที่ 1 ย่อมต้องรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเคยล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติที่เกิดเหตุที่อยู่ใกล้บ้านมาแล้วอาจใช้อาวุธปืนของผู้ร้องที่ 1 ล่าสัตว์ป่า ถือว่าผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงในอาวุธปืนยาวลูกกรดของกลางรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ส่วนผู้ร้องที่ 2 เบิกความว่าตนมีอายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรงจึงไปพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ได้อยู่บ้านของตนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงให้จำเลยที่ 2 ช่วยดูแลทรัพย์สินรวมทั้งอาวุธปืน แต่กระสุนปืนไม่ได้ซื้อมานานแล้ว และตอบโจทก์ถามค้านว่า ตั้งใจจะโอนทะเบียนอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวของกลางให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานเขยที่ตนมอบอาวุธปืนนั้นให้มานานแล้ว แต่ยังไม่ได้โอน และให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า มอบอาวุธปืนให้จำเลยที่ 2 เก็บรักษาตั้งแต่ปี 2560 เพราะมีอายุมาก มักทิ้งบ้านไปทำธุระโดยไม่มีใครอยู่บ้านบ่อยครั้ง จำเลยที่ 2 นำอาวุธปืนมาไว้ที่อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ผู้ร้องที่ 2 มอบอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวให้จำเลยที่ 2 ไว้นานแล้ว แสดงว่าผู้ร้องที่ 2 มอบอาวุธปืนยาวของกลางให้แก่จำเลยที่ 2 ไว้ในความครอบครองแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียนตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ซึ่งครอบครองอาวุธปืนสามารถนำอาวุธปืนไปใช้กระทำการใดก็ได้ สวนยางพาราของจำเลยที่ 2 ก็อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติที่เกิดเหตุ และผู้ร้องทราบว่าจำเลยที่ 2 เอาอาวุธปืนมาไว้ที่บ้าน อาจนำอาวุธปืนนั้นเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติและใช้ล่าสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติได้ ถือว่าผู้ร้องที่ 2 รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ศาลไม่อาจสั่งคืนอาวุธปืนของกลาง 2 กระบอก แก่ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ประการนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องทั้งสอง