โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 58, 91, 277, 310, 317, 392 และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2850/2561 ของศาลจังหวัดตรังเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) (ที่ถูก มาตรา 277 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ด้วย), 310 วรรคหนึ่ง, 392 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุกกระทงละ 7 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 21 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี ฐานขู่เข็ญผู้อื่นให้ตกใจกลัว จำคุกกระทงละ 20 วัน รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 160 วัน รวมทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 29 ปี 160 วัน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 14 ปี 6 เดือน 80 วัน (ที่ถูก 9 ปี 66 เดือน 80 วัน) บวกโทษจำคุก 10 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2850/2561 ของศาลจังหวัดตรัง เข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุก 14 ปี 16 เดือน 80 วัน (ที่ถูก 9 ปี 76 เดือน 80 วัน) ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 มารดาหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน (ที่ถูก 6 ปี 18 เดือน) เมื่อรวมโทษกับกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 21 ปี 22 เดือน 80 วัน (ที่ถูก 15 ปี 94 เดือน 80 วัน) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เด็กหญิง ป. ผู้เสียหายที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ขณะเกิดเหตุอายุ 10 ปีเศษ ถึง 11 ปีเศษ เป็นบุตรของนายเฉียว กับ นางสาวฉวี ผู้เสียหายที่ 2 และอยู่ในความดูแลปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา ต่อมาปี 2558 ผู้เสียหายที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย โดยผู้เสียหายที่ 2 จำเลยและผู้เสียหายที่ 1 พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน วันเกิดเหตุจำเลยเข้าไปภายในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 1 ปิดล็อกประตูไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกจากห้องแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอมและจำเลยพูดจาขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 1 ว่าจะทำร้ายร่างกาย หากนำเรื่องที่จำเลยกระทำชำเราไปบอกบุคคลอื่นสำหรับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และฐานขู่เข็ญผู้อื่นให้ตกใจกลัว คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพาษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับผู้เสียหายที่ 1 แยกห้องนอนคนละห้องกันจำเลยเข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 1 แล้วล็อกประตูกอดปล้ำกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ไม่เข้าลักษณะแยกผู้เสียหายที่ 1 ไปจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 นั้น เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่งและวรรคสาม กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็กคำว่า "พราก" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีความหมายว่า ทำให้จากไป พาไปเสียจาก ทำให้แยกออกจากกัน ดังนั้น การพรากซึ่งจะทำให้ผู้กระทำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่งและวรรคสาม จึงหมายถึงการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าวถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบุคคลดังกล่าวไม่รู้เห็นยินยอม อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ซึ่งกฎหมายมิได้จำกัดว่า "พราก" โดยวิธีการอย่างใด และไม่คำนึงถึงระยะใกล้หรือไกล ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่แห่งใดหากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลยังดูแลเอาใจใส่อยู่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน หากมีผู้กระทำต่อเด็กในทางเสื่อมเสียและเสียหายหรือโดยปราศจากเหตุอันสมควรซึ่งเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองดูแลย่อมถือได้ว่าเป็นความผิดฐานพรากเด็ก คดีนี้พยานโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยเข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 นอนอยู่ในห้องนอนกับน้องชายแล้วปิดล็อกประตูขัดขวาง กอดผู้เสียหายที่ 1 ไม่ให้ออกจากห้องนอนและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม ทั้งพูดจาขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 1 ว่าจะทำร้ายร่างกายหากนำเรื่องที่จำเลยกระทำชำเราไปบอกบุคคลอื่น การกระทำของจำเลยเช่นนี้ แม้จำเลยไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจากบ้านที่อยู่อาศัยด้วยกันก็ตาม แต่การที่จำเลยปิดล็อกประตูขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกจากห้องนอนแล้วกระทำชำเราพร้อมข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าว ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ถึง 11 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ผู้เสียหายที่ 1 ตกอยู่ในอำนาจควบคุมของจำเลย และจำยอมให้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา จำเลยจึงกระทำความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วางโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม กระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการวางโทษในอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งยังลดโทษให้อีกกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ซึ่งเป็นการลดโทษขั้นสูงสุดตามกฎหมายอีกด้วย ศาลฎีกาจึงกำหนดโทษจำคุกสถานเบากว่านี้อีกไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน