โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ที่ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 7016.900.001 ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตจากบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด ในอัตราร้อยละ 14.27 ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 (ประกาศ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2548) และขอให้มีคำสั่งคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่เรียกเก็บหรือหลักประกันที่ให้ไว้คืนแก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเพิกถอนกระบวนการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสตามคำขอของบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ตั้งแต่ขั้นตอนตามประกาศกรมจำเลย เรื่อง เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาด สินค้าบล็อกแก้วที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พ.ศ.2547 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2547 จนถึงขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน เรื่อง การตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และประกาศกรมจำเลย เรื่อง ผลการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ให้จำเลยดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาดตามคำขอของบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ใหม่โดยใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงในช่วงเวลาเดิมให้สอดคล้องและเป็นไปตามกฎหมายและคำพิพากษานี้ ส่วนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือหลักประกันที่โจทก์ชำระหรือวางไว้ให้จำเลยคืนแก่โจทก์ทั้งหมด หรือตามส่วนหรือเรียกเก็บเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี เมื่อจำเลยได้ดำเนินการไต่สวนใหม่เสร็จแล้ว ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา (ที่ถูก ชั้นอุทธรณ์) และชั้นนี้แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 4,500 บาท
โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างการพิจารณา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่โจทก์ได้ชำระไว้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หรือมิฉะนั้นโจทก์ขอวางหลักประกันแทนเงินอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้ว มีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553 ว่า ในการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสโดยโจทก์นับแต่วันที่ได้แจ้งคำสั่งนี้ให้กรมศุลกากรทราบโดยชอบ ให้กรมศุลกากรรับหลักประกันของธนาคารตามที่โจทก์นำมาวางไว้แทนการที่โจทก์จะต้องชำระเงินค่าอากรในส่วนที่เป็นอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (ร้อยละ 13.80) ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดและจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 วันที่ 26 เมษายน 2553 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง วันที่ 3 พฤษภาคม 2553 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 3 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาและจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ จำเลยเป็นกรมสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ และมีอำนาจหน้าที่
ดำเนินการด้านกฎหมายว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ บริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมภายใน ยื่นคำขอให้เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามหนังสือขอส่งคำขอเปิดการไต่สวนการทุ่มตลาด แล้ววันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ บริษัทดังกล่าวขอชี้แจงและแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมตามหนังสือขอแก้ไขเอกสารยื่นขอเปิดการไต่สวนการทุ่มตลาด ต่อมาวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน มีคำวินิจฉัยว่าคำขอของบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นอุตสาหกรรมภายใน มีพยานหลักฐานที่แสดงว่ามีมูลเพียงพอเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน เห็นควรให้เปิดการ ไต่สวน จำเลยจึงออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พ.ศ.๒๕๔๗ ตามสำเนาประกาศกรมการค้าต่างประเทศ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๘ คณะกรรมการฯมีคำวินิจฉัยเบื้องต้นว่า ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียส่งสินค้าเข้ามาทุ่มตลาดและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสำคัญแก่อุตสาหกรรมผู้ผลิตในประเทศ เห็นสมควรให้ใช้มาตรการชั่วคราวตอบโต้การทุ่มตลาดการนำเข้าสินค้าดังกล่าว โดยให้เรียกเก็บอากรชั่วคราวหรือให้วางหลักประกันการชำระอากรชั่วคราวสำหรับการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐๑๖.๙๐๐.๐๐๑ ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สินค้าซึ่งผลิตจากบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด เรียกเก็บในอัตราร้อยละ ๑๔.๒๗ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. ส่วนราชอื่นเรียกเก็บในอัตราร้อยละ ๕๐.๕๙ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. เป็นกำหนดเวลา ๔ เดือน ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามสำเนาประกาศคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน เรื่อง การตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พ.ศ.๒๕๔๘ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๘ และจำเลยออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง ผลการไต่สวนเบื้องต้นการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเชีย พ.ศ.๒๕๔๘ ตามสำเนาประกาศกรมการค้าต่างประเทศ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๘ โจทก์คัดค้านผลการไต่สวนเบื้องต้นและขอแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ตามสำเนาหนังสือ ขอคัดค้านผลการไต่สวนเบื้องต้น ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ และสำเนาหนังสือนำส่ง ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ก่อนประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุดจำเลยส่งร่างผลการไต่สวนการทุ่มตลาดชั้นที่สุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ โจทก์โต้แย้งต่อร่างผลการไต่สวนการทุ่มตลาดชั้นที่สุด ตามสำเนาหนังสือขอแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๘ สำเนาหนังสือนำส่ง ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ และในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ บริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด โต้แย้งผลการไต่สวนเบื้องต้นตามสำเนาหนังสือเรื่องผลการไต่สวนเบื้องต้นการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พ.ศ.๒๕๔๘ พร้อมคำแปล ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ คณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยชั้นที่สุดว่า มีการทุ่มตลาดและมีความเสียหายตามมาตรา ๑๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๒ จึงให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐๑๖.๙๐๐.๐๐๑ ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สินค้าซึ่งผลิตจากบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด เรียกเก็บในอัตราร้อยละ ๑๔.๒๗ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. ส่วนรายอื่นในอัตราร้อยละ ๕๐.๕๙ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. ตามสำเนาประกาศคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน เรื่องการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้ว ชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๘ และจำเลยออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องผลการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๘
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยปกปิดข้อมูลข่าวสารที่ใช้เป็นพื้นฐานในการไต่สวนการทุ่มตลาด ทั้งที่ข้อมูลข่าวสารที่ปกปิดไม่มีสภาพเป็นข้อมูลลับทำให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น และป้องกันผลประโยชน์ของโจทก์ได้หรือไม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ปกปิดนั้น พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารที่มีความอ่อนไหว โดยแบ่งข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดเป็น 2 ประเภทคือ ข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดโดยสาระและเนื้อหา ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นความลับโดยสภาพ เช่น หากเปิดเผยแล้วจะเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญแก่คู่แข่ง หรือเปิดเผยแล้ว จะเกิดผลเสียที่สำคัญต่อผู้ให้ข้อมูลหรือต่อบุคคลที่ให้ข้อมูลแก่ผู้ให้ข้อมูล (a person from whom that person acquired the information) กับข้อมูลข่าวสารที่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารนั้นขอให้ปกปิด สำหรับข้อมูลข่าวสารที่นางสาวกาญจนาพยานโจทก์อ้างว่าจำเลยปกปิดนั้น เป็นข้อมูลที่อยู่ในแบบคำขอให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด ข้อเท็จจริงได้ความจากนางอุบล ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลย ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานไต่สวนและพิสูจน์ความเสียหายตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในทางปฏิบัติบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด จะป้ายสีดำในแบบคำขอฉบับเปิดเผยมาเองทั้งหมด จากนั้นจึงแจ้งเจ้าหน้าที่จำเลยถึงเหตุผลโดยรวมที่ขอปกปิด โดยไม่มีการแจ้งรายละเอียดเหตุผลเป็นรายข้อ เมื่อเจ้าหน้าที่จำเลยได้รับเอกสารฉบับเผยแพร่ซึ่งป้ายสีดำมาแล้ว เจ้าหน้าที่จำเลยไม่ได้สั่งให้เผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมจนกระทั่งผู้มีส่วนได้เสียซึ่งได้รับเอกสาร ร้องขอมายังจำเลย จำเลยจึงสั่งให้บริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม ฉบับที่เปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้นนั้น ยังมีข้อมูลที่ปกปิดอยู่ ซึ่งในทางปฏิบัติบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ได้ชี้แจงเหตุผลเป็นรายข้อที่ปกปิดว่าอาศัยเหตุผลอะไรจึงขอปกปิดต่อไป จากคำเบิกความของนางอุบลดังกล่าวเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่จำเลยยังมิได้พิจารณาว่าข้อมูลข่าวสารในแบบคำขอให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดส่วนใดเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดโดยสาระและเนื้อหา เพราะบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ขอให้จำเลยปกปิดมาตั้งแต่แรก โดยแจ้งเหตุผลในการปกปิดแก่เจ้าหน้าที่จำเลย และเจ้าหน้าที่จำเลยก็ฟังว่ามีเหตุผลสมควรที่จะปกปิดแล้ว ดังนั้นข้อมูลข่าวสารในแบบคำขอให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดในกรณีนี้ ถือเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทที่บริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลขอให้ปกปิด จำเลยจึงตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสอง ที่ว่า " ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารขอให้ปกปิดนั้น การเปิดเผยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นั้นก่อน..." เมื่อบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ได้เปิดเผยข้อมูลข่างสารเพิ่มเติมตามแบบคำขอให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด แล้วถือว่าบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ให้ความเห็นชอบเฉพาะส่วนที่เปิดเผยนั้น ทำให้จำเลยไม่อาจเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนที่บริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ขอให้ปกปิดได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 26 วรรคสอง การที่จำเลยปฏิบัติต่อข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวังตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้ใน มาตรา 26 รวมทั้งให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ข้อ 2 (3) จึงถือได้ว่าเจ้าหน้าที่จำเลยดำเนินการมาตรการที่เหมาะสมและตามควรแก่กรณีแล้ว ไม่อาจถือว่าเจ้าหน้าที่จำเลยละเลยไม่พิจารณาความจำเป็นและสมควรในการปกปิดข้อมูลดังกล่าว ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่จำเลยไม่ได้ให้ความสำคัญที่เพียงพอแก่การพิจารณาว่าข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดบ้างที่โดยสาระและเนื้อหาหรือโดยเจตนาของผู้ยื่นคำขอจำเป็นต้องปกปิดไว้มิให้เผยแพร่ออกไป ดังจะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่จำเลยมิได้ดำเนินการใดเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ผู้ยื่นคำขอขอปกปิดนั้นมีเหตุผลอันสมควร (upon good cause shown) และสรุปว่าทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จำเลย ในส่วนที่เกี่ยวกับการไม่พิจารณาความจำเป็นและสมควรในการปกปิดข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นพื้นฐานในการไต่สวนการทุ่มตลาดตามคำขอของบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 30 นั้น ประเด็นแรกในเรื่องเหตุผลอันสมควรนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 6.5 แห่งความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลซึ่งบังคับใช้มาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 (Agreement on Implement of Article VI of the General Agreement on Tariffs and Trade 1994) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีในความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้าด้วย โดยมาตรา 6.5 บัญญัติว่า "ข้อมูลใดที่โดยสภาพถือเป็นข้อมูลลับ (เช่น ข้อมูลที่หากเปิดเผยจะเป็นเหตุให้คู่แข่งขันได้เปรียบทางการแข่งขันทางการค้าอย่างสำคัญหรือการเปิดเผยข้อมูลนั้นจะมีผลกระทบที่เป็นปฏิปักษ์อย่างสำคัญต่อบุคคลผู้ให้ข้อมูลนั้น หรือต่อบุคคลซึ่งให้ข้อมูลแก่ผู้ให้ข้อมูล หรือเป็นข้อมูลที่คู่พิพาทขอให้ปกปิดข้อมูลนั้น เป็นความลับในการไต่สวนโดยมีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทใช้ข้อมูลนั้นอย่างข้อมูลลับ ข้อมูลลับดังกล่าวไม่อาจเปิดเผยได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคู่พิพาทผู้ให้ข้อมูลนั้น" (Article 6.5 "Any information which is by nature confidential (for example, because its disclosure would be of significant competitive advantage to a competitor or because its disclosure would have a significantly adverse effect upon a person supplying the information or upon a person from whom that person acquired the information), or which is provided on a confidential basis by parties to an investigation shall, upon good cause shown, be treated as such by the authorities. Such information shall not be disclosed without specific permission of the party submitting it.") เมื่อเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 26 แล้ว มาตรา 26 มิได้กำหนดในเรื่องเหตุผลอันสมควรไว้ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นกระบวนการที่เป็นธรรม และเกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความลับของข้อมูลกับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ เจ้าหน้าที่จำเลยสมควรตรวจสอบด้วยว่าเหตุผลการปกปิดที่ผู้ให้ข้อมูลปกปิดรับฟังได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของนางอุบลพยานจำเลยซึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยว่า บริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ขอปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางการจัดจำหน่าย มูลค่าปกติ และราคาส่งออก โดยอ้างว่าถ้าหากเปิดเผยจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าข้ออ้างยอมรับได้ จึงไม่บังคับให้เปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลในส่วนผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด โดยตรงซึ่งหากเปิดเผยไปอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าหรือคู่ค้าของบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด เห็นว่า เนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่บริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ขอปกปิดนั้นมีข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด รวมอยู่ด้วย จึงเห็นได้ชัดเจนว่า หากเปิดเผยแล้วจะกระทบต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทดังกล่าว แม้กระทั่งข้อมูลของบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด ที่ปรากฏในแบบคำขอให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดของบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด หากเปิดเผยแล้วอาจมีผลเสียต่อบุคคลผู้ให้ข้อมูลต่อบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ได้ พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่จำเลยพิจารณาถึงเหตุสมควรก่อนที่จะใช้ดุลพินิจเชื่อตามที่บริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ชี้แจงแล้ว ประเด็นที่ 2 ในเรื่องที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยปฏิบัติไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 30 นั้น มาตราดังกล่าวบัญญัติว่า "ก่อนที่จะประกาศคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการเกี่ยวกับผลการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย ให้กรมการค้าต่างประเทศ แจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสยื่นข้อโต้แย้งในการป้องกันผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น ทั้งนี้ ต้องให้ระยะเวลาอันควรสำหรับการยื่นข้อโต้แย้งดังกล่าว" จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามาตรา 30 เป็นขั้นตอนก่อนประกาศคำวินิจฉัย โดยกฎหมายให้โอกาสผู้มีส่วนได้เสียโต้แย้งก่อนมีการประกาศคำวินิจฉัยชั้นที่สุด จึงกำหนดหน้าที่ให้จำเลยแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาหรืออีกนัยหนึ่งคือร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุด จำเลยได้ส่งร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุดให้แก่โจทก์แล้ว ตามสำเนาหนังสือกรมการค้าต่างประเทศ ด่วน ที่พณ 0210/ว.1777 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2548 ซึ่งต่อมาโจทก์โต้แย้งร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุดดังกล่าว ตามสำเนาหนังสือขอแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2548 แต่ในคดีนี้เป็นขั้นตอนการตรวจดูข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งหากพิจารณาจากความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลซึ่งบังคับใช้มาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 (Agreement on Implement of Article VI of the General Agreement on Tariffs and Trade 1994) จะเห็นได้ว่า มาตรา 30 ดังกล่าวมีที่มาจาก มาตรา 6.9 ของความตกลงดังกล่าวซึ่งบัญญัติว่า "ก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเป็นที่สุด ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดแจ้งแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญที่จะใช้ประกอบการพิจารณาในการวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดหรือไม่ การแจ้งข้อเท็จจริงที่สำคัญดังกล่าวต้องให้เวลาเพียงพอแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่จะโต้แย้งเพื่อปกป้องส่วนได้เสียของตนได้" (Article 6.9 "The authorities shall, before a final determination is made, inform all interested parties of the essential facts under consideration which form the basis for the decision whether to apply definitive measures. Such disclosure should take place in sufficient time for the parties to defend their interests.") ส่วนเรื่องการตรวจดูข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียความตกลงดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 6.4 ว่า "ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทให้เวลาและโอกาสแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่จะได้ตรวจดูข้อมูลทั้งหมดที่มิใช่ข้อมูลลับตามที่กำหนดไว้ในวรรคห้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทจะใช้ในการไต่สวนกรณีการทุ่มตลาด และให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้มีโอกาสเตรียมที่จะแถลงการณ์เกี่ยวกับข้อมูลนั้น" (Article 6.4 "The authorities shall whenever practicable provide timely opportunities for all interested parties to see all information that is relevant to the presentation of their cases, that is not confidential as defined in paragraph 5, and that is used by the authorities in an anti - dumping investigation, and to prepare presentations on the basis of this information.") หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้ในการไต่สวนตามมาตรา 6.4 แห่งความตกลงดังกล่าว จึงแยกต่างหากจากหน้าที่ตามมาตรา 6.5 แห่งความตกลงนี้ ดังนั้นการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จำเลยไม่ชอบด้วยมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 จึงคลาดเคลื่อนและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่จำเลยได้ส่งร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุดให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ได้โต้แย้งผลการไต่สวนชั้นที่สุดดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยปกปิดข้อมูลข่าวสารที่ใช้เป็นพื้นฐานในการไต่สวนการทุ่มตลาด ทำให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นและป้องกันผลประโยชน์ของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า คำวินิจฉัยและคำสั่งของเจ้าหน้าที่จำเลยรวมถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ (2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง (3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ" ไม่นำมาใช้กับกรณีที่คณะกรรมการฯ คำวินิจฉัยเบื้องต้นหรือคำวินิจฉัยชั้นที่สุดเกี่ยวกับการไต่สวนการทุ่มตลาดเนื่องจากพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 38 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 36 และมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับคำสั่งทางปกครองที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งในเรื่องการทุ่มตลาดมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 กำหนดรูปแบบของคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ กล่าวคือ เมื่อคณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยเบื้องต้นหรือคำวินิจฉัยชั้นที่สุดเกี่ยวกับการไต่สวนการทุ่มตลาดแล้ว จำเลยจะออกประกาศแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาไต่สวน และเนื่องจากคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการฯ ในคดีนี้ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด จำเลยจึงต้องประกาศรายละเอียดข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่คณะกรรมการฯ ใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด โดยมีรายการตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 1 (1) (ก) ถึง (จ) กับรายการที่เพิ่มเติมในข้อ 1 (2) คือ "ข้อโต้แย้งหรือข้อกล่าวอ้างของผู้ส่งออกจากต่างประเทศ หรือผู้นำเข้าอันมีเหตุผลรับฟังได้เป็นยุติ..." เมื่อพิจารณาประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องผลการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 แล้วปรากฏว่ามีรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาผลการไต่สวน ตลอดจนรายการครบถ้วนตามที่กำหนดกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 จึงฟังว่าประกาศดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยในทำนองว่า คำสั่งทางปกครองกรณีนี้ต้องถ่ายทอดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายพร้อมแสดงการวิเคราะห์โดยละเอียดนั้น ทั้งจุดประสงค์ที่การออกคำสั่งทางปกครองต้องระบุเหตุผลไว้ด้วยแล้วเพื่อให้คู่กรณีสามารถตรวจสอบว่าได้รับการปฏิบัติโดยถูกต้องหรือไม่ และเพื่อประโยชน์ในกระบวนพิจารณาทบทวนตามกฎหมายเนื่องจากทำให้ทราบว่าผู้ออกคำสั่งอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใด รวมทั้งใช้ดุลพินิจอย่างไร หากสามารถเข้าใจได้ว่าผู้ออกคำสั่งฟังข้อเท็จจริง ปรับข้อกฎหมายและใช้ดุลพินิจอย่างไร ก็ถือว่าเพียงพอในการตรวจสอบและทบทวนแล้ว ไม่จำเป็นที่คำสั่งทางปกครองต้องระบุเหตุผลอย่างละเอียดทุกแง่มุม ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง ผลการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 สามารถทำให้โจทก์และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เข้าใจถึงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลที่คณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดแล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จำเลยหรือคณะกรรมการฯ ต้องแจกแจงข้อเท็จจริงทุกอย่าง ที่ใช้เป็นข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนโดยละเอียด จึงรับฟังได้ว่าคำวินิจฉัยและคำสั่งของเจ้าหน้าที่จำเลยรวมถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า สินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่ถูกพิจารณาคือ ขนาด 190 x 190 x 80 มิลลิเมตร และขนาด 190 x 190 x 100 มิลลิเมตร การกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดต้องจำกัดเฉพาะสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสขนาดดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการเริ่มต้นกระบวนการพิจารณา เมื่อบุคคลหรือคณะบุคคลตามมาตรา 33 ยื่นคำขอต่อกรมจำเลยเพื่อขอให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด จำเลยต้องตรวจสอบรายละเอียดและพยานหลักฐาน แล้วเสนอคำขอต่อคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อพิจารณา โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและความเสียหายหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลตามมาตรา 3 เป็นเพียงผู้เริ่มกระบวนการพิจารณา แต่กระบวนพิจารณาต่อไปเป็นเรื่องของจำเลย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการด้านกฎหมายว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและดำเนินมาตรการป้องกันและตอบโต้ทางการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้า ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2545 และของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 73 ดังเห็นได้จากก่อนเริ่มการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย คำขอต้องผ่านการพิจารณาของจำเลยและคณะกรรมการ ฯ ก่อน การไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายจึงมิได้ถูกจำกัดเฉพาะสินค้าที่ระบุในคำขอหรือตามเจตนารมณ์ของผู้ยื่นขอเท่านั้น จำเลยและคณะกรรมการฯ ดังกล่าวในฐานะผู้มีอำนาจ (the authorities) ย่อมสามารถประเมินทบทวน รวมทั้งพิจารณาว่าข้อเท็จจริงตามคำขอควรครอบคลุมถึงสินค้าใดบ้าง มิฉะนั้นอำนาจในการกำหนดขอบเขตจะกลายเป็นอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลผู้ยื่นคำขอ ทั้งที่การทุ่มตลาดมีผลถึงผู้บริโภค ประโยชน์สาธารณรัฐ และเศรษฐกิจโดยรวมด้วย มิใช่มีผลกระทบเฉพาะผู้ยื่นคำขอเท่านั้น ในเรื่องการกำหนดขอบเขตนี้ ปรากฏจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนางดวงพร พยานจำเลยซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการฯ ว่า ขอบเขตสินค้าที่ถูกพิจารณาภายใต้ประกาศเปิดการไต่สวนการทุ่มตลาด ครอบคลุมสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกขนาดที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยไม่ได้มีขอบเขตจำกัดเฉพาะสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสขนาด 190 x 190 x 80 มิลลิเมตร และขนาด 190 x 190 x 100 มิลลิเมตร ตามคำร้องขอของอุตสาหกรรมภายในผู้ยื่นคำขอ เท่านั้น เนื่องจากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสินค้าที่คล้ายคลึงกันอย่างมากกับสินค้าที่อุตสาหกรรมภายในผลิต โดยผู้ผลิตสามารถปรับขนาดสินค้าได้ตามความต้องการของตลาด ประกอบกับพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 7016.900.001 ไม่มีการจำแนกพิกัดตามขนาดของสินค้า จึงพิจารณาได้ว่าบล็อกแก้วชนิดใสทุกขนาดเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งเป็นการพิจารณาตามที่บัญญัติในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ดังนั้นการพิจารณาของคณะกรรมการฯ จึงมิได้มีวัตถุประสงค์เพียงให้เรียกเก็บอากรตอบโต้ การทุ่มตลาดเฉพาะสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสขนาด 190 x 190 x 80 มิลลิเมตร และขนาด 190 x 190 x 100 มิลลิเมตร เท่านั้น หากแต่เป็นการพิจารณาในชนิดและประเภทของสินค้า คือสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสตามที่ได้ออกประกาศเปิดการไต่สวนมาแต่ต้น การวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยตามอำนาจของคณะกรรมการฯ ตามพระราชบัญญัตินี้ในมาตรา 73 โดยมิได้เป็นการใช้ดุลพินิจเกินกว่าขอบเขตแต่อย่างใด ทั้งคำเบิกความของพยานปากนี้ยังสอดคล้องกับบทบัญญัติ ส่วนที่ 2 ว่าด้วยการเริ่มต้นกระบวนพิจารณาที่กำหนดในพระราชบัญญัติดังกล่าว คำเบิกความของนางดวงพรจึงมีน้ำหนักเหตุผลให้รับฟังได้ ประกอบกับการกำหนดขอบเขตการไต่สวนให้ครอบคลุมสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกขนาด เพื่อป้องกันปัญหาการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาด โดยวิธีการเปลี่ยนขนาดของสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ซึ่งจะทำให้การตอบโต้การทุ่มตลาดไม่สมประโยชน์และเป็นอันไร้ผล ถือได้ว่าการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ส่วนที่นางสาวกาญจนาพยานโจทก์เบิกความว่า สินค้าที่ถูกพิจารณากับสินค้าชนิดเดียวกันมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือมีขนาดที่แตกต่างกันและผู้บริโภคยอมรับโดยทั่วไปว่าบล็อกแก้วชนิดใสของบริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด เป็นบล็อกแก้วคุณภาพใสพิเศษมีขั้นตอนและกระบวนการผลิตที่แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่น และมีต้นทุนการผลิตสูงเป็นพิเศษ อีกทั้งสินค้าที่ถูกพิจารณากับสินค้าชนิดเดียวกันไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ กับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยทำนองว่า สินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่ถูกพิจารณาจะต้องจำกัดไว้แต่ขนาด 190 x 190 x 80 มิลลิเมตร และขนาด 190 x 190 x 100 มิลลิเมตร หรือขนาด 190 x 190 x 95 มิลลิเมตร เท่านั้น เพราะเป็นสินค้าชนิดที่ถือได้ว่าเป็นสินค้าชนิดเดียวกันตามความหมายของนิยามคำว่า "สินค้าชนิดเดียวกัน" ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 และการระบุเพียงประเภทสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากร ไม่ได้จำแนกถึงชนิดของสินค้าประเภทนั้น ๆ ไม่ถูกต้อง เพราะพิกัดอัตราศุลกากรกำหนดเพื่อความสะดวกในการเรียกเก็บอากรสินค้านำเข้าโดยกรมศุลกากร ไม่ใช่เพื่อความประสงค์ในการกำหนดขอบเขตที่แน่นอนสำหรับการไต่สวนการทุ่มตลาด นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 4 คำว่า "สินค้าชนิดเดียวกัน" หมายความว่า "สินค้าที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการกับสินค้าที่ถูกพิจารณา แต่ในกรณีที่ไม่มีสินค้าดังกล่าวให้หมายความว่าสินค้าที่คล้ายคลึงกันอย่างมากกับสินค้าดังกล่าว" นิยามดังกล่าวบัญญัติไว้กว้างๆ มิได้กำหนดรายละเอียดในการพิจารณาเอาไว้จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น เป็นระบบจัดแบ่งสินค้าตามประเภทโดยมีเลขรหัสกำกับ หรือ "Harmonized System" แม้โดยหลักจะใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีศุลกากร แต่ยังมีประโยชน์ในการเก็บสถิติทางการค้าระหว่างประเทศ และช่วยแยกแยะความเหมือนและแตกต่างของสินค้าได้ ดังจะเห็นได้จากกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ข้อ 1 (1) (ก) ให้จำเลยระบุรายการ "ลักษณะของสินค้าเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินพิธีการทางศุลกากร" เมื่อนายเอกชัย เจ้าหน้าที่ประเมินอากร 6 ว. สังกัดกรมศุลกากร พยานจำเลยเบิกความว่า สินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกขนาดอยู่ภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรเดียวกันทั้งสิ้นคือพิกัดอัตราศุลกากร 7016.900.001 หรือ 7016.90 หรือปัจจุบันคือพิกัดอัตราศุลกากร 7016.9000 การที่จำเลยนำองค์ประกอบเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรมาเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งในการรับฟังว่าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกชนิดเป็นสินค้าชนิดเดียวกันจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ สำหรับเรื่องขนาดของบล็อกแก้วชนิดใส ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นพ้องกับโจทก์ว่า เป็นสินค้าชนิดเดียวกันตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าต่างประเทศ พ.ศ.2542 แต่วินิจฉัยว่าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสขนาดและลักษณะอื่นๆ ที่โจทก์นำเข้า มีลักษณะทางกายภาพคือลักษณะและขนาดต่างกัน ประโยชน์ใช้สอยต่างกันไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ รวมทั้งความรับรู้ของผู้บริโภคต่อประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกัน นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากนายสุโขพยานจำเลย ซึ่งทำงานที่บริษัทบางกอกคริสตัล จำกัด ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันว่า สินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกลวดลาย ทุกขนาด ทุกรูปร่าง มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานเหมือนกันคือ ใช้ก่อผนังบ้านและอาคาร เพื่อเป็นช่องแสง หรือเพื่องานตกแต่ง บล็อกแก้วชนิดใสไม่ว่าจะเป็นขนาด รูปร่างหรือลวดลายใด สามารถทดแทนกันได้ทั้งหมด ความแตกต่างเป็นเรื่องการขายและการตลาดของแต่ละบริษัทที่สร้างขึ้นเพื่อยกระดับราคาสินค้าเท่านั้น จึงเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์การใช้งานของบล็อกแก้วชนิดใสคือใช้เป็นช่องให้แสงสว่างผ่านได้ สำเนาแค็ตตาล็อกสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสของบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด เองก็ใช้คำว่า "spatial transformation of light" กระบวนการผลิตสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ไม่ต่างจากสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสขนาด 190 x 190 x 80 มิลลิเมตร ขนาด 190 x 190 x 100 มิลลิเมตร และขนาด 190 x 190 x 95 มิลลิเมตร จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวและคุณลักษณะอันเกิดจากกระบวนการผลิตที่เหมือนกันถือว่าเป็นบล็อกแก้วชนิดใสเช่นเดียวกัน และโดยสภาพย่อมทดแทนกันได้ สำหรับขนาดและลวดลายของบล็อกแก้วชนิดใสเป็นเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาดที่ต้องการทำให้สินค้าครอบคลุมความต้องการและรสนิยมที่แตกต่างกันของผู้บริโภค โดยใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ของผู้บริโภคว่าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสมีความแตกต่างกัน ทั้งที่สินค้าบล็อกแก้วชนิดใสไม่มีคุณลักษณะแตกต่างกันในสาระสำคัญในแง่ของประโยชน์ใช้สอย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกขนาดเป็นสินค้าชนิดเดียวกันตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 การกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด จึงไม่ต้องจำกัดเฉพาะสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสขนาด 190 x 190 x 80 มิลลิเมตร และขนาด 190 x 190 x 100 มิลลิเมตร เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยดำเนินการหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 14 มาตรา 15 และมาตรา 18 หรือไม่ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การพิจารณาหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดให้มีการเปรียบเทียบอย่างเป็นธรรม และให้กระทำที่ขั้นตอนทางการค้าเดียวกันและในเวลาเดียวกัน โดยคำนึงถึงบรรดาข้อแตกต่างที่มีผลกระทบต่อการเปรียบเทียบราคาประกอบด้วย ในกรณีที่ราคาส่งออกและมูลค่าปกติมิได้อยู่บนขั้นตอนทางการค้าเดียวกันหรือเวลาเดียวกัน ให้มีการปรับลดองค์ประกอบต่างๆ ที่แตกต่างกันอันมีผลกระทบต่อการเปรียบเทียบราคาส่งออกด้วย" วรรคสอง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับวรรคหนึ่ง วิธีการหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดต่อหน่วยให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะมีเหตุสมควรที่จะใช้วิธีการอื่น (1) เปรียบเทียบระหว่างมูลค่าปกติถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกับราคาส่งออกถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก..." ในเรื่องนี้โจทก์มีนางสาวกาญจนามาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่าจำเลยใช้ดุลพินิจโดยอำเภอใจในการพิจารณาเลือกราคามูลค่าปกติ และราคามูลค่าส่งออก ซึ่งไม่ใช่ราคาที่เป็นธรรมแก่โจทก์ รวมทั้งการเลือกราคาสินค้าในช่วงใดช่วงหนึ่งเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ซึ่งส่งผลให้ส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดของโจทก์มีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งที่จำเลยมีข้อมูลของราคาส่งออกและข้อมูลของมูลค่าปกติ ที่สามารถนำมาเป็นฐานในการพิจารณาหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดอยู่แล้ว โดยได้รับจากบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด และโจทก์ในชั้นไต่สวนครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่อาจนำวิธีการอื่นนอกเหนือจากวิธีการตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง และมาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาใช้ได้ และพยานแสดงวิธีการคำนวณดังนี้ บริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด ขายสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสให้แก่บริษัทจายา เกสุมา เลสทารี จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย การคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดนำมูลค่าปกติตั้งลบด้วยราคาส่งออก ได้ผลลัพธ์คือ ร้อยละ 8.81 ส่วนจำเลยมีนางสาวมุกดาพยานจำเลยมาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า การพิจารณามูลค่าปกติในคดีนี้พิจารณาตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลราคาขายภายในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียในช่วงระยะเวลาการไต่สวน (วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2547) ซึ่งเป็นราคาขายถึงผู้ซื้ออิสระ ตามข้อมูลแบบสอบถามของบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด ข้อมูลราคาดังกล่าวสามารถนำมาใช้พิจารณามูลค่าปกติได้เนื่องจากมีปริมาณการขายภายในประเทศมากกว่าร้อยละ 5 ของปริมาณการส่งออกจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียมายังประเทศไทย รวมทั้งได้พิจารณาหลักเกณฑ์การขายต่ำกว่าทุนตามข้อกำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม เหตุที่การคำนวณมูลค่าปกติของนางสาวกาญจนาพยานโจทก์ กับนางสาวมุกดาพยานจำเลยมีความแตกต่างกัน เนื่องจากนางสาวกาญจนาใช้ปริมาณการขายสินค้าที่บริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด ขายให้แก่บริษัทจายา เกสุมา เลสทารี จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จำนวน 838.91 เมตริกตัน เป็นฐานในการคำนวณ ส่วนจำเลยใช้ข้อมูลการขายสินค้าของบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด ตามแบบสอบถามของบริษัทดังกล่าว และพิจารณาหลักเกณฑ์การขายต่ำกว่าทุนตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคสาม ซึ่งข้อมูลการขายสินค้าที่นางสาวมุกดาใช้นั้น เจ้าหน้าที่จำเลยเดินทางไปตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับตามแบบสอบถามที่บริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียด้วย ข้อมูลจึงมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้จำเลยยังพบว่าข้อมูลของบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด มีการขอหักค่านายหน้าด้านมูลค่าปกติที่จ่ายให้แก่บริษัทแม่ซึ่งไม่มีการบันทึกทางบัญชี ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ประกอบกับนางสาวมุกดานำต้นทุนการผลิตของบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด มาเปรียบเทียบกับราคาขายด้วย ดังนั้น การพิจารณามูลค่าปกติของจำเลยจึงมีความรอบด้านมากกว่าของนางสาวกาญจนาซึ่งอาศัยเฉพาะตัวเลขจากตารางการขายในตลาดภายในประเทศ (Sales on Domestic Market) เพียงอย่างเดียว อีกทั้งไม่ได้พิจารณาว่าบริษัทพีที มูเลียกลาส จำกัด ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตหรือไม่ ที่นางสาวกาญจนาเบิกความอ้างว่า เมื่อจำเลยใช้วิธีการคำนวณมูลค่าปกติตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 แล้ว จำเลยไม่สามารถใช้มาตรา 15 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้อีกนั้น เมื่อพิจารณามาตรา 15 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ราคาตามวรรคหนึ่ง หรือราคาตามเมื่อพิจารณาวรรคสอง (1) ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตรวมกับค่าใช้จ่ายในการจัดการ การขาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เมื่อได้พิจารณาการขายสินค้าดังกล่าวในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่สมควร โดยมีปริมาณการขายที่มากพอแล้ว ถ้าปรากฏว่าราคาเหล่านั้นจะไม่สามารถทำ