โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,358,754.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,111,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 1,122,703.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 776,938 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 32,270 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และนางจิระภรณ์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินที่ตั้งโรงแรมเขาใหญ่ คาวบอย ซิตี้ รีสอร์ท และร่วมลงทุนก่อสร้างโรงแรมทั้งให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีในการออกใบเสร็จรับเงินของโรงแรมกับมีชื่อเป็นเจ้าของโรงแรม จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทั่วไปของโรงแรม โรงแรมให้บริการเช่าที่พักซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย ลู่วิ่ง สนามเด็กเล่น ขี่ม้า จักรยานเสือภูเขา เดินป่า ส่องสัตว์ รถเช่า รวมทั้งสระว่ายน้ำขนาดความกว้าง 7.5 เมตร ความยาว 13.63 เมตร มีความลึกตั้งแต่ 1 เมตร ถึง 2.55 เมตร ปูด้วยพื้นไวนิล บริเวณสระว่ายน้ำไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลความปลอดภัยและช่วยเหลือผู้ใช้บริการ ไม่มีชุดปฐมพยาบาลประจำสระว่ายน้ำ ไม่ติดประกาศวิธีปฐมพยาบาลช่วยคนจมน้ำ ไม่มีอุปกรณ์ประจำสระว่ายน้ำที่ช่วยชีวิต เช่น ห่วงชูชีพ โฟมช่วยชีวิต เครื่องช่วยหายใจ ไม่มีป้ายบอกแสดงความลึกของสระว่ายน้ำ และไม่มีป้ายเตือนในการใช้สระว่ายน้ำซึ่งตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 31 บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้กิจการใดเป็นกิจการอันตรายต่อสุขภาพ และได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 5/2538 ออกตามความในมาตราดังกล่าว ประกาศให้การประกอบกิจการโรงแรมหรือกิจกรรมอื่นทำนองเดียวกันเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมาตรา 32 บัญญัติให้ราชการท้องถิ่นมีอำนาจออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทั่วไปสำหรับให้ผู้ดำเนินการดังกล่าวปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพหรือสุขลักษณะของสถานที่ที่ใช้ดำเนินกิจการและมาตรการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ข้อบังคับของกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์การประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจ หรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพประเภทการจัดตั้งสระว่ายน้ำ พ.ศ.2530 กำหนดให้จัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งมีความชำนาญในการว่ายน้ำและสามารถให้การปฐมพยาบาลได้ ผลัดเปลี่ยนกันเพื่อดูแลความปลอดภัยและช่วยเหลือผู้ใช้บริการเมื่อเกิดอุบัติเหตุประจำอยู่ตลอดเวลาที่สระว่ายน้ำเปิดบริการ และจัดให้มีอุปกรณ์ไม้ช่วยชีวิตหรือวัตถุอื่นยาวไม่น้อยกว่า 3.5 เมตร ห่วงชูชีพ เช่น ยางในรถยนต์เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 15 นิ้ว ผูกไว้กับเชือกยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของสระว่ายน้ำ โฟมช่วยชีวิตอย่างน้อย 2 อัน เครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กและผู้ใหญ่อย่างละ 1 เครื่อง แสดงความลึกของสระว่ายน้ำไว้ให้เห็นชัดเจน ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลหมูสีไม่มีข้อบังคับหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับการก่อสร้างสระว่ายน้ำ และอำเภอปากช่องซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงแรมเขาใหญ่ คาวบอย ซิตี้ รีสอร์ท ตั้งอยู่ ไม่มีระเบียบข้อบังคับหรือข้อบัญญัติที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครอง อำเภอปากช่อง เกี่ยวกับการก่อสร้างและใช้สระว่ายน้ำเอกชน โจทก์ นางจิระภรณ์ ผู้ตาย และนายมนูศักดิ์กับครอบครัวของนายนฤทธิ์ เข้าพักที่โรงแรมเขาใหญ่ คาวบอย ซิตี้ รีสอร์ท ผู้ตาย นายมนูศักดิ์และเด็กหญิงเรือนแก้ว ว่ายน้ำอยู่ในสระว่ายน้ำของโรงแรมโดยมีนางจิระภรณ์นั่งอยู่ริมสระว่ายน้ำ ขณะที่ผู้ตายว่ายน้ำอยู่กลางสระ ผู้ตายจมน้ำ นายมนูศักดิ์ว่ายไปช่วยแต่ช่วยไม่ได้จึงเรียกนางจิระภรณ์ลงไปช่วย นางจิระภรณ์ลงในสระช่วยผู้ตาย แต่ช่วยไม่ได้จึงให้นายมนูศักดิ์ไปตามโจทก์ โจทก์จึงกระโดดลงไปดำน้ำช่วยจนกระทั่งสามารถดึงผู้ตายขึ้นมาที่ขอบสระได้และช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วนำผู้ตายส่งโรงพยาบาลปากช่องนานา แพทย์ตรวจร่างกายผู้ตายพบว่าผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หัวใจไม่เต้น วัดความดันไม่ได้ ม่านตาไม่ตอบสนอง แสดงว่า ผู้ตายเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล ต่อมาโจทก์และนางจิระภรณ์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสอง แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีถึงที่สุด
มีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิยื่นฟ้องแทนนางจิระภรณ์มารดาผู้ตายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การยื่นฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเพื่อสงวนบำรุงรักษาสินสมรส หรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสนั้น เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องในครั้งนี้เกิดจากโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงมิใช่เป็นการฟ้องในเรื่องสินสมรสเพราะไม่เกี่ยวกับรายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกันจึงเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิดตามสิทธิที่มีอยู่เป็นการเฉพาะตัวตามที่บทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า องค์การบริหารส่วนตำบลหมูสีและอำเภอปากช่องไม่มีระเบียบ ข้อบัญญัติที่บังคับเจ้าของสระว่ายน้ำที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ชุดปฐมพยาบาลประจำสระว่ายน้ำ ปิดประกาศวิธีการปฐมพยาบาลช่วยคนจมน้ำไว้บริเวณสระ รวมทั้งมีอุปกรณ์ประจำสระว่ายน้ำคือ ไม้ช่วยชีวิต ห่วงชูชีพ โฟมช่วยชีวิต เครื่องช่วยหายใจ และป้ายบอกแสดงความลึกของสระว่ายน้ำ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองจัดให้มีสระว่ายน้ำไว้ในโรงแรมก็เพื่อเป็นทางเลือกที่จะให้ลูกค้าเข้าใช้บริการโรงแรมของจำเลยทั้งสองเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นจำเลยทั้งสองคงไม่สร้างสระว่ายน้ำในปี 2540 ซึ่งต้องใช้เงินถึง 560,000 บาท ทั้งสระว่ายน้ำของจำเลยทั้งสองมีความลึกสูงสุด 2.55 เมตร และบริเวณที่ลึกที่สุดมีลักษณะเป็นกรวยลงไปและลักษณะดังกล่าวของสระว่ายน้ำ ทำให้ยากต่อการช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยทั้งสองจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลความปลอดภัยและช่วยเหลือผู้ใช้บริการเมื่อเกิดอุบัติเหตุตลอดเวลาที่เปิดบริการ ชุดปฐมพยาบาลประจำสระว่ายน้ำ อุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น ไม้ช่วยชีวิต ห่วงชูชีพ โฟมช่วยชีวิต เครื่องช่วยหายใจ ทั้งจะต้องมีป้ายบอกแสดงความลึกของสระว่ายน้ำให้ผู้ใช้บริการทราบ ซึ่งจำเลยทั้งสองได้คิดค่าบริการส่วนนี้รวมกับค่าเช่าที่พักแล้วไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม หากจำเลยทั้งสองจัดหาบุคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อผู้ตายจมน้ำก็สามารถช่วยเหลือผู้ตายให้รอดชีวิตได้ แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองขาดบุคลากรและอุปกรณ์ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้โจทก์ ภริยาโจทก์และบุตรไม่สามารถช่วยผู้ตายขึ้นจากสระว่ายน้ำ ซึ่งได้ความจากโจทก์และภริยาโจทก์ว่า พื้นสระว่ายน้ำของจำเลยทั้งสองลื่นเนื่องจากขาดการดูแลรักษา ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับภาพถ่ายสระว่ายน้ำ ที่สระว่ายน้ำของจำเลยทั้งสองอยู่ในสภาพทรุดโทรมขาดการดูแลรักษา ซึ่งสระว่ายน้ำของจำเลยทั้งสองเปิดให้บุคคลที่มาใช้บริการโรงแรมของจำเลยทั้งสองเข้าใช้ได้ โดยส่วนที่ลึกที่สุดลึกถึง 2.55 เมตร ซึ่งท่วมศีรษะบุคคลทั่วไป หากมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ว่ายน้ำไม่เป็นหรืออาจจะเป็นเด็กเล็ก หรือผู้สูงวัยพลัดตกลงไปอาจจมน้ำเสียชีวิตได้ ควรอย่างยิ่งที่จำเลยทั้งสองจะจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยจากการจมน้ำมาคอยดูแลหรือมีเชือกกั้นแสดงเขตส่วนที่ลึกท่วมศีรษะเพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่ใช้สระว่ายน้ำจมน้ำได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองสามารถกระทำได้แต่หาได้กระทำไม่ แม้สระว่ายน้ำในโรงแรมของจำเลยทั้งสองจะตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แต่หาทำให้ความสำคัญของสระว่ายน้ำแตกต่างไปจากสระว่ายน้ำในกรุงเทพมหานครไม่ แม้องค์การบริหารส่วนตำบลหมูสีและอำเภอปากช่องจะไม่มีข้อบังคับหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับการก่อสร้างสระว่ายน้ำ ก็หาทำให้จำเลยทั้งสองพ้นความรับผิดในกรณีที่มีผู้ประสบภัยจมน้ำตายดังเช่นผู้ตายในคดีนี้ไม่ ทั้งนี้เพราะการที่จำเลยทั้งสองมีสระว่ายน้ำซึ่งลึกและมีสภาพเป็นกรวยย่อมเป็นที่เล็งเห็นได้ว่าหากบุคคลที่ว่ายน้ำไม่เป็นหรือเกิดเป็นตะคริวจมน้ำลงไปย่อมถึงแก่ความตาย หรือเด็กอาจพลัดตกลงไปถึงแก่ความตายได้ ทั้งเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องป้องกันเองโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อบังคับหรือระเบียบใด ๆ ของทางราชการออกมาบังคับอีกชั้นหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,256,938 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเห็นสมควรให้เป็นพับ