โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 3, 117, 118, 118 ทวิ ปรับจำเลยโดยคำนวณตามพื้นที่สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในคลองวัดโสและให้ศาลสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในคลองวัดโสด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง, 118 ปรับ 262,400 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ (ที่ถูก ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 131,200 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในคลองวัดโส ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา หากจำเลยเพิกเฉยให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการรื้อถอนด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118 ทวิ (ที่ถูก ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 ทวิ วรรคสอง)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ คำขออื่นให้ยกคืนค่าปรับที่จำเลยชำระมาแล้วทั้งหมด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 32/2560 เรื่องการบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือสิ่งอื่นใดที่สร้างอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 แจ้งให้เจ้าท่าทราบถึงการฝ่าฝืนดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ผู้ที่แจ้งภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้รับยกเว้นโทษทางอาญาและโทษปรับทางปกครองสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลำคลองสาธารณะก่อนวันที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ใช้บังคับได้แจ้งให้เจ้าท่าทราบถึงการฝ่าฝืนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 32/2560 มีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นการแจ้งภายในเวลาที่กำหนด ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2562 กรมเจ้าท่าออกใบอนุญาตให้จำเลยปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำประเภทเขื่อนกั้นน้ำเซาะ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยได้รับยกเว้นโทษทางอาญาในการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กคิดเป็นพื้นที่ 65.60 ตารางเมตร ล่วงล้ำเข้าไปในคลองวัดโส ซึ่งเป็นลำคลองสาธารณะอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือประชาชนใช้สอยร่วมกัน เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ ปรากฏว่าบริเวณต่อจากที่ดินของจำเลยด้านติดคลองวัดโส มีสิ่งปลูกสร้างพื้นคอนกรีตหลังคาโครงเหล็กรุกล้ำเข้าไปในคลองวัดโส และปรากฏจากภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์อ้างเป็นพยานว่า มีลักษณะเป็นอาคารผนังกั้นเป็นห้องทึบมีหลังคาเห็นได้ชัดว่าต่อเติมจากแนวอาคารเดิมที่ตั้งอยู่ในที่ดินของจำเลยโดยมีผนังด้านหนึ่งก่อสร้างเป็นกำแพงขนานไปตามแนวคลองวัดโส ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องที่ระบุว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลำน้ำคลองวัดโสอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยมีลักษณะเป็นอาคารพื้นคอนกรีต หลังคาโครงเหล็กพื้นที่ 65.60 ตารางเมตร ดังนั้น เมื่อจำเลยไปแจ้งให้เจ้าท่าทราบถึงสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่สร้างฝ่าฝืนมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพระพุทธศักราช 2456 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 32/2560 ข้อ 1 เพื่อจะได้รับการยกเว้นโทษทางอาญาและโทษปรับทางปกครองจำเลยก็ควรที่จะแจ้งลักษณะสิ่งปลูกสร้างให้ตรงตามสภาพความเป็นจริงพร้อมยื่นเอกสารที่จำเป็นต่อเจ้าท่าประกอบการพิจารณาอนุญาตสำหรับอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่สร้างก่อนวันที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ใช้บังคับเพื่อที่เจ้าท่าจะได้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 มาใช้บังคับโดยอนุโลมในการกำหนดลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ต่อไป ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งดังกล่าว ข้อ 2 แต่จำเลยกลับแจ้งต่อเจ้าท่าว่า เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำแม่น้ำประเภทเขื่อนกันน้ำเซาะ ซึ่งตามพจนานุกรมภาษาไทยคำว่า เขื่อน หมายความว่า เครื่องป้องกันไม่ให้ดินริมน้ำพัง หรือสิ่งที่สร้างขึ้นขวางกั้นลำน้ำเพื่อกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในทางชลประทาน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่สิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำคลองวัดโสตามฟ้องและตามภาพถ่ายกลับมีลักษณะเป็นอาคาร กั้นห้อง พื้นเทคอนกรีตมีผนังและหลังคา น่าเชื่อว่าเป็นการปลูกสร้างโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานเพื่อการอยู่อาศัยหรือใช้เป็นอาคารสำนักงานเป็นหลัก ส่วนแนวกำแพงด้านติดคลองวัดโสแม้จะมีการทำเพื่อป้องกันไม่ให้ดินริมตลิ่งทรุดตัวพังลง แต่ก็เป็นไปเพื่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคารลักษณะเป็นการใช้งานอาคารสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หาใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากจำเลยจะได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มจากเดิมอีก 65.60 ตารางเมตร การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแจ้งข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาพสิ่งปลูกสร้างที่แท้จริงตามที่โจทก์ฟ้อง พฤติการณ์เป็นการปกปิดและบิดเบือนข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่ากระทำโดยมีเจตนาแจ้งประเภทสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เข้าลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่เจ้าท่าจะพึงอนุญาตได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 63 ข้อ 4 (5) จึงเป็นการไม่สุจริต มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณะชนโดยรวม กรณีไม่อาจถือได้ว่า จำเลยได้แจ้งสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำแม่น้ำถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 32/2560 จำเลยจึงไม่ได้รับการยกเว้นโทษทางอาญาและต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำคลองวัดโสตามฟ้องออกไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกา โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำคลองวัดโสภายใน 30วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา