โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 ถึงที่ 29 และให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทแปลงที่ 30 ถึงที่ 37 ตามฟ้องให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วนและให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินฝากจากบัญชีธนาคารที่มีชื่อนายอรุณ ทุกบัญชีให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองและหากจำเลยทั้งสองไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกได้ ให้นำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันให้โจทก์ตามสัดส่วนหรือชดใช้เงิน 16,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอรุณ จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2853 ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 70016 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา หนึ่งในสี่ส่วน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นายอรุณกับนางวรรลี เป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกันสี่คน คือ โจทก์ จำเลยทั้งสองและนายกิจจา นายอรุณกับนางวรรลีมีที่ดินพิพาท 37 แปลง ตามฟ้องเป็นสินสมรส นายอรุณจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 และที่ 2 ให้นายกิจจาโดยได้รับความยินยอมจากนางวรรลี ครั้นนางวรรลีถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายอรุณเป็นผู้จัดการมรดกของนางวรรลี ต่อมาโจทก์ จำเลยทั้งสองและนายกิจจาทำบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 ถึงที่ 22 ในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางวรรลีผู้ตายกึ่งหนึ่งและยินยอมให้นายอรุณรับมรดกของเจ้ามรดกได้ โดยลงลายมือชื่อโจทก์จำเลยทั้งสองและนายกิจจามอบไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา นายอรุณจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทรวม 20 แปลง ของผู้ตายนั้นให้ตนเอง วันรุ่งขึ้นนายอรุณจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทรวม 20 แปลง ให้จำเลยที่ 1 ภายหลังนางวรรลีถึงแก่ความตาย นายอรุณเป็นโจทก์ฟ้องนายกิจจาเป็นจำเลยเรียกถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 และที่ 2 ต่อมานายอรุณนำคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปดำเนินการจดทะเบียนถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 และที่ 2 แล้วจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 1 ต่อมานายอรุณจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแปลงที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 ถึงที่ 29 ให้จำเลยที่ 1 และนายอรุณจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแปลงที่ 30 และที่ 32 ถึงที่ 37 ให้จำเลยทั้งสอง นายอรุณถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายอรุณ สำหรับที่ดินพิพาทแปลงที่ 25 และที่ 31 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอรุณ จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์หนึ่งในสี่ส่วน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 และที่ 2 ครึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางวรรลีผู้ตายที่จะตกทอดแก่ทายาทหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 และที่ 2 เป็นสินสมรสระหว่างนายอรุณกับนางวรรลี ขณะนางวรรลีมีชีวิตอยู่ได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสที่นายอรุณกับนางวรรลีถือกรรมสิทธิ์คนละครึ่งให้นายกิจจา ต่อมาศาลมีคำพิพากษาถอนคืนการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นจึงกลับมาสู่เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมอันได้แก่ นายอรุณกับนางวรรลี แม้นางวรรลีจะถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม เมื่อศาลเพิกถอนการให้ สิทธิในที่ดินพิพาทจึงกลับสู่เจ้าของเดิมในขณะทำนิติกรรมยกให้ ดังนั้นที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นทรัพย์มรดกของนางวรรลีผู้ตายครึ่งหนึ่งที่จะตกทอดแก่ทายาท เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้นหมายถึง ทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน แม้เดิมที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 และที่ 2 เป็นสินสมรสระหว่างนายอรุณกับนางวรรลี เมื่อนายอรุณโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายกิจจาโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับความยินยอมจากนางวรรลี การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์ ที่ดินพิพาทนั้นจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างนายอรุณกับนางวรรลีอีกต่อไป การที่นางวรรลีถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาย่อมทำให้การสมรสระหว่างนายอรุณกับนางวรรลีสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 ภายหลังนางวรรลีถึงแก่ความตายไปแล้ว ศาลพิพากษาให้ถอนคืนการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นเช่นนี้ ที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างนายอรุณกับนางวรรลี และมิใช่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่นางวรรลีมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 และที่ 2 ครึ่งหนึ่งจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของนางวรรลีผู้ตายที่จะตกทอดแก่ทายาทอีกต่อไป โจทก์ไม่อาจฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินพิพาทได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 ถึงที่ 22 ในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางวรรลีผู้ตายครึ่งหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 ถึงที่ 22 เป็นบันทึกที่โจทก์ จำเลยทั้งสอง และนายกิจจาให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลามีใจความสำคัญว่า ตามที่นายอรุณได้ยื่นคำขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 ถึงที่ 22 ของนางวรรลีผู้ตายนั้น โจทก์ จำเลยทั้งสอง และนายกิจจาเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทด้วยในฐานะบุตรได้รับทราบการขอรับมรดกที่ดินพิพาทตามประกาศของสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2551 แล้วยินยอมให้นายอรุณรับมรดกของนางวรรลีผู้ตายได้ ซึ่งโจทก์ จำเลยทั้งสอง และนายกิจจาลงลายมือชื่อมอบไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน แม้สำเนาบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดก ที่โจทก์และทายาทอื่นตกลงยกทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 ถึงที่ 22 ในส่วนของนางวรรลีครึ่งหนึ่งให้แก่นายอรุณมิใช่เป็นการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และ 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใดและยังมีทรัพย์มรดกส่วนอื่นอีกที่มิได้มีการสละด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสองประกอบมาตรา 850 ซึ่งมีผลบังคับได้ตามมาตรา 852 โจทก์เรียกร้องทรัพย์มรดกส่วนนี้ไม่ได้ จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 ถึงที่ 22 ในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางวรรลีผู้ตายครึ่งหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ