ผู้ร้องร้องว่าคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือขออายัดเงินบำเหน็จของจำเลยต่อผู้ร้อง และผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้ออกคำสั่งให้จ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาผู้ร้องได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอคืนเงินดังกล่าวเนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่คืนเงิน จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระงับการแบ่งทรัพย์สินของจำเลยไว้จนกว่าผู้ร้องพิจารณาลงโทษทางวินัยจำเลยเสร็จ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิขอคืนเงินบำเหน็จดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระงับการแบ่งทรัพย์สิน และให้คืนเงินบำเหน็จแก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 110,625 บาท แก่ผู้ร้องหรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่าเมื่อผู้ร้องส่งเงินบำเหน็จตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขออายัดมาให้ผู้คัดค้านโดยมิได้โต้แย้งหรือสงวนสิทธิในการเรียกร้องไว้ จึงเท่ากับผู้ร้องยอมรับว่าผู้ร้องเป็นหนี้ตามคำขออายัดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเด็ดขาดแล้วผู้ร้องไม่อาจที่จะเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้อีกเพราะกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา 406 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เห็นว่าการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือขออายัดเงินบำเหน็จของจำเลยไปยังผู้ร้องและแสดงเจตนาขอรับเงินบำเหน็จแทนจำเลยด้วยนั้นตามคำเบิกความของนายมนัส แจ่มจรรยา หัวหน้าสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 6 ได้ความว่าเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 โดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นการแจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลซึ่งจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามจำนวนที่ได้แจ้งไปแก่จำเลยตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวดังนั้นการที่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติสิทธิเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือขออายัดและแสดงเจตนาขอรับเงินบำเหน็จของจำเลยมายังผู้ร้องภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ไม่ถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้ของกองทรัพย์สินของจำเลยอยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดแล้วเพราะกรณีไม่เข้าข่ายมาตรา 119 ตามที่กล่าวแล้ว การที่จำเลยจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือไม่ก็ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พุทธศักราช 2500 เพราะจำเลยเป็นข้าราชการสังกัดเทศบาลเมืองพิษณุโลก การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สินจะรวบรวมเงินบำเหน็จของจำเลยได้นั้น ต้องได้ความว่าจำเลยมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากผู้ร้อง แต่คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่าจำเลยได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและผู้ร้องได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2527 ให้ไล่จำเลยออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2525 โดยยกเลิกคำสั่งของผู้ร้องที่ 139/2525 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2525 ที่อนุญาตให้จำเลยลาออกจากราชการ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.2 ซึ่งมีผลให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พุทธศักราช 2500 มาตรา 11 เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ เงินบำเหน็จดังกล่าวจึงไม่เป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 109 เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจจัดการเก็บรวบรวมและรับเงินตามมาตรา 22 ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวน 110,625 บาท ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ร้องนั้นชอบด้วยรูปคดีแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน