โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268, 341 ประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13, 90/4 (3) ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 10,467.80 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา บริษัท บ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 341 ส่วนข้อหาตามประมวลรัษฎากร โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายทางด้านจิตใจ 10,000 บาท ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง 300,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการทำงาน 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การในส่วนคดีแพ่งว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมขอมาสูงเกินไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก (ที่ถูก 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265), 341 ประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13, 90/4 (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฉ้อโกงรวม 2 กระทง ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 20,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 50,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี และปรับ 50,000 บาท ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม รวม 2 กระทง ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี และปรับ 30,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันฉ้อโกง รวม 2 กระทง คงปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 10,000 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ รวม 2 กระทง คงปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 25,000 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน และปรับ 25,000 บาท ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม รวม 2 กระทง คงปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 15,000 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท และรวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 36 เดือน และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในเวลา 1 ปี และให้จำเลยที่ 2 ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 การกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกินหนึ่งปี ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 10,467.80 บาท แก่โจทก์ร่วม นั้น เนื่องจากจำเลยทั้งสองชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมแล้วจึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ สำหรับในคดีส่วนแพ่ง ศาลพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว เห็นว่าชอบด้วยกฎหมายจึงพิพากษาตามยอม ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 2 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฉ้อโกง ฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออก ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยทั้งสองกระทงละกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 รวม 2 กระทง 30,000 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 2 กระทง รวม 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า การออกใบกำกับภาษีในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 86 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ..." และมาตรา 86/13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้" แสดงว่าผู้ที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้นั้นจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีการขายสินค้าหรือให้บริการจริง การที่จำเลยทั้งสองซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีร่วมกันหลอกลวงบริษัท บ. โจทก์ร่วม ซึ่งเป็นผู้รับบริการ ด้วยการแจ้งและวางใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าโดยมีค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยทั้งสองต่างกรรมต่างวาระ 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 5,233.90 บาท และวันที่ 15 ธันวาคม 2561 จำนวน 5,233.90 บาท และจำเลยทั้งสองยังร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้แก่โจทก์ร่วม ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 มีข้อความระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0215555XXXXXX มูลค่าค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าเป็นเงิน 74,770 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 5,233.90 บาท และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 มีข้อความระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 0215555XXXXXX มูลค่าค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าเป็นเงิน 74,770 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 5,233.90 บาท เป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมที่ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยจำเลยทั้งสองผู้ซึ่งไม่มีสิทธิออกมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (5) ถือได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรง แม้จำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน มีภาระต้องดูแลบุคคลในครอบครัว และทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ไม่ใช่เหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้บรรเทาผลร้ายจากการกระทำความผิดโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระค่าเสียหายและชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วม โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดมานั้นหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพความผิดและการกระทำของจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง แม้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 บัญญัติให้ผู้ใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 265 และเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น รับโทษตามมาตรานี้เพียงกระทงเดียว แต่การใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13, 90/4 (3) ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษต่างหากจากประมวลกฎหมายอาญา ไม่เข้าข้อยกเว้นให้รับโทษฐานใช้เอกสารปลอมกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ลงโทษเป็นหลายกรรมได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195, 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 สำหรับความผิดฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออก เป็นความผิดกรรมหนึ่งซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม และฐานร่วมกันฉ้อโกง ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อันเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งแต่ให้ลงโทษในแต่ละใบกำกับภาษีเพียงกรรมเดียว จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 เดือน รวม 2 กระทง จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 เดือน 15 วัน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2