โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 54, 72 ตรี, 73, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 14, 31, 35, ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบไม้สักแปรรูปและล้อเข็นไม้ของกลาง ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ กับชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมป่าไม้ 2,647,266 บาท และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนความผิดฐานอื่นให้การปฏิเสธ และให้การปฏิเสธในคดีส่วนแพ่งเนื่องจากจำเลยไม่ได้กระทำความผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง (เดิม), 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง, 73 วรรคสอง (1) (เดิม) ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และฐานเข้าไปยึดถือครอบครองหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี ฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นประโยชน์แก่พิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 1 ปี ฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 7 ปี 4 เดือน ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมป่าไม้ 1,061,000 บาท ริบไม้สักแปรรูปของกลาง คำขออื่นให้ยก และให้คืนล้อเข็นไม้ของกลางแก่เจ้าของ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่ป่าสงวนแห่งชาติ จำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นแล้ว เป็นจำคุก 6 ปี และจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าการทำไม้และมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแก่กรมป่าไม้เป็นเงิน 61,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าหน้าที่ป่าไม้สนธิกำลังกับหน่วยงานอื่นตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งมีการครอบครองทำประโยชน์โดยขุดสระน้ำ ปลูกต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดิน พบไม้สักแปรรูปไม่มีรอยตราเจ้าพนักงานประทับไว้ 244 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 3.21 ลูกบาศก์เมตร วางแยกกันอยู่ที่คอกปศุสัตว์โรงจอดรถ และบริเวณที่กำลังปลูกสร้างอาคาร กับล้อเข็นไม้ 1 คัน จึงยึดเป็นของกลาง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจหาค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์โดยใช้สัญญาณดาวเทียม (จีพีเอส) พบว่าพื้นที่เกิดเหตุมีเนื้อที่ 48 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จาง ซึ่งจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุ สำหรับไม้สักของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ของนายฝาย พ่อตาจำเลย โดยจำเลยตัดฟันทำเป็นไม้สักแปรรูปนำมาเก็บไว้ในที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาคดีนี้แก่จำเลย สำหรับคดีในส่วนแพ่งซึ่งเป็นค่าเสียหายต่อรัฐ คู่ความไม่ฎีกา เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่ใช้บังคับอยู่เดิม โดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มาตรา 4 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 โดยมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "...ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม..." ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ไม้สักของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มีนายฝาย พ่อตาจำเลยมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม้สักดังกล่าวจึงมิใช่เป็นไม้หวงห้าม การที่จำเลยตัดฟันไม้สักของกลางในที่ดินดังกล่าว แล้วมีการแปรรูปนำมาเก็บรักษาไว้ในที่ดินที่เกิดเหตุ ย่อมไม่เป็นความผิดฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องอีกต่อไป ทั้งนี้ตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และเมื่อไม้สักของกลางเป็นไม้สักที่จำเลยได้มาโดยชอบ จึงไม่อาจริบได้ ต้องคืนให้แก่เจ้าของ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีดาบตำรวจคมชาญซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จาง และมีอาณาเขตติดกับไร่วิลาวัลย์รีสอร์ท โดยมีพื้นที่ติดต่อกันทางทิศด้านตะวันตก และสภาพที่ดินไม่มีทางเข้าออกในลักษณะเป็นทางสาธารณะ คงพบแต่เพียงร่องรอยเป็นทางเข้า อีกทั้งพบสิ่งปลูกสร้างในที่ดินอันมีลักษณะคล้ายเป็นรีสอร์ท นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายจำลอง เป็นพยานเบิกความว่า สถานที่เกิดเหตุมีการขุดสระและสร้างบ้านพัก ต้นไม้ที่ปลูกก็เป็นต้นไม้ที่ปลูกใหม่มิใช่ต้นไม้ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินในลักษณะอันเป็นการทำเกษตรกรรม อีกทั้งเบิกความว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิและไม่อยู่ในเขตที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐโดยมีตำแหน่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติงานในท้องถิ่นมีความรู้ข้อกฎหมายเป็นอย่างดีกลับยึดถือครอบครองที่ดินที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยมีเอกสาร ภ.บ.ท. 5 ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ประกอบกับจำเลยได้เบิกความตอนหนึ่งว่า จำเลยหยุดจ่ายภาษีบำรุงท้องที่เนื่องจากมีกรณีเขายายเที่ยง จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบอยู่แล้วว่า การมีเอกสาร ภ.บ.ท. 5 ดังกล่าวไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ ลักษณะของการครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จางของจำเลย จึงเป็นการยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหามีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คืนไม้สักแปรรูปของกลางให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5