โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ห้ามมิให้จำเลยใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรบังคับโจทก์ให้ชำระหนี้ภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ให้เพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์ ที่ สภ.2/7453/2560 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560 และคำสั่งอายัดที่ สภ.3/4817/2560 ลงวันที่ 20 กันยายน 2560 คำสั่งอายัดที่ สภ.3/4818/2560 ลงวันที่ 20 กันยายน 2560 คำสั่งอายัดที่ (สภ.1) 7358/2560 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2560 และคำสั่งอายัดที่ สภ.3/5411/2560 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ให้เพิกถอนประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ลงวันที่ 6 มีนาคม 2561 ให้เพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์ ที่ สภ.4/สบ/701/2561 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และประกาศ เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกรมสรรพากร ที่ สภ.2/7453/2560 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560 คำสั่งอายัด ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ สภ.3/4817/2560 ลงวันที่ 20 กันยายน 2560 คำสั่งอายัด ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ สภ.3/4818/2560 ลงวันที่ 20 กันยายน 2560 คำสั่งอายัด ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ (สภ.1) 7358/2560 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2560 คำสั่งอายัด ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ สภ.3/5411/2560 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 คำสั่งกรมสรรพากร ที่ สภ.4/สบ/701/2561 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และเพิกถอนประกาศกรมสรรพากร เรื่อง ขายทอดตลาดทรัพย์สิน ลงวันที่ 6 มีนาคม 2561 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ นายสมศักดิ์ และนางเมธินี มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามคณะบุคคลนายสมศักดิ์ นาย ป. และนางเมธินี สำหรับปีภาษี 2539 ปีภาษี 2540 ปีภาษี 2541 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2541 แต่ทั้งสามคนมิได้เสียภาษีอากรดังกล่าวแต่อย่างใด เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินโดยการปิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2550 โจทก์ นายสมศักดิ์และนางเมธินีอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ นายสมศักดิ์และนางเมธินียื่นฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 218/2552 ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 ห้ามชั่วคราวมิให้ขายทอดตลาดที่ดินและหุ้นที่ได้ยึดและอายัดไว้ระหว่างการพิจารณา (ยึดและอายัดเมื่อปี 2550 และ 2551) ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 19/2554 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 โดยพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สำหรับปีภาษี 2539 และให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สำหรับปีภาษี 2541 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2541 โจทก์ นายสมศักดิ์ นางเมธินีและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3835/2559 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้อง ส่วนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อศาลฎีกาได้พิจารณาเนื้อหาแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องเพิกถอนการประเมินและทำคำพิพากษาเสร็จแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยคำร้องนี้ต่อไป ให้จำหน่ายคดี (คำร้องนี้) จากสารบบความของศาลฎีกาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8618/2559 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้อ่านเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ต่อมาที่เป็นเหตุให้ฟ้องเป็นคดีนี้คือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 จำเลยมีประกาศให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9882 ซึ่งโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายประทีป นายประมวล และนายประหยัด วันที่ 20 กันยายน 2560 จำเลยมีคำสั่งอายัดตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ สภ.3/4816/2560 และที่ สภ.3/4817/2560 อายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ประเภทบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สามบัญชี และมีคำสั่งอายัดตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ สภ.3/4818/2560 และ ที่ สภ.3/4819/2560 อายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ซ. ประเภทบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ วันที่ 3 ตุลาคม 2560 จำเลยมีคำสั่งอายัดตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ (สภ.1) 7356/2560 ที่ (สภ.1) 7357/2560 และที่ (สภ.1) 7358/2560 อายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และธนาคาร ย. ประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จำเลยมีคำสั่งอายัดตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ สภ.3/5410/2560 และที่ สภ.3/5411/2560 อายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ท. ประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 จำเลยมีประกาศกรมสรรพากร เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร ให้ยึดทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นที่ดิน 7 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 4905 และเลขที่ 4906 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 31732 เลขที่ 31733 เลขที่ 31734 เลขที่ 31735 และเลขที่ 31736 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และวันที่ 6 มีนาคม 2561 จำเลยมีประกาศกรมสรรพากร เรื่อง ขายทอดตลาดทรัพย์สิน ให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 9882 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดไว้ดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า คำสั่งของจำเลยที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินกับประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์เมื่อปี 2560 และปี 2561 ดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า กำหนดเวลาบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้าง 10 ปี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 (เดิม) จะเริ่มต้นนับเมื่อใดย่อมแล้วแต่ว่า ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือไม่ หากไม่ได้รับอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากร กำหนดเวลาบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้าง 10 ปีดังกล่าวย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ภาษีอากรตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของจำเลย แต่ถ้าได้รับอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรกำหนดเวลาบังคับชำระหนี้เริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 31 โจทก์ไม่ได้รับอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากร การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า กำหนดเวลา 10 ปีต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจึงไม่ชอบ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งตามลักษณะนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง" วรรคสอง บัญญัติว่า "เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง..." วรรคสาม บัญญัติว่า "ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีตามวรรคสอง ภายในเขตท้องที่จังหวัดหรืออำเภอนั้น..." วรรคสี่ บัญญัติว่า "วิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม..." ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) บัญญัติว่า "ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ นายสมศักดิ์ และนางเมธินี มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลนายสมศักดิ์ นาย ป. และนางเมธินี สำหรับปีภาษี 2539 ปีภาษี 2540 ปีภาษี 2541 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2541 และถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ทั้งสามคนมิได้เสียภาษีอากรดังกล่าวแต่อย่างใด ภาษีอากรซึ่งต้องเสียย่อมถือเป็นภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง แม้เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรได้ แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ยังอุทธรณ์การประเมิน และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ระยะเวลา 10 ปี ในการยึดและอายัดจึงยังไม่อาจเริ่มนับแต่วันแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ โดยหลังจากโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว โจทก์ นายสมศักดิ์ และนางเมธินีอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 และต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง และได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 การนับระยะเวลา 10 ปี จึงต้องนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 วันที่ 20 กันยายน 2560 วันที่ 3 ตุลาคม 2560 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 จึงเป็นการมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินและประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อต่อมาว่า จำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เกินกว่าจำนวนหนี้ภาษีอากรค้างที่คณะบุคคลและโจทก์ต้องรับผิดชำระหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คณะบุคคลมีหนี้ภาษีอากรค้าง 921,731,286.34 บาท แต่จำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ไว้ 3,731,274,279.67 บาท ได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่ 9882 ราคาประเมิน 44,960,000 บาท อายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. 921,674,283.37 บาท ธนาคาร ซ. 921,674,283.37 บาท ธนาคาร ก. และธนาคาร ย. 921,674,283.37 บาท และธนาคาร ท. 921,191,430.56 บาท เป็นการยึดและอายัดทรัพย์สินเกินกว่าหนี้ภาษีอากรค้างจึงไม่ชอบ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ที่คำสั่งอายัด ให้อายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ธนาคาร ซ. ธนาคาร ก. ธนาคาร ย. เป็นจำนวนเงิน 921,674,283.37 บาท และธนาคาร ท. เป็นจำนวนเงิน 921,191,430.56 บาท นั้น จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ระบุจำนวนเต็มตามจำนวนหนี้ภาษีอากรค้างที่โจทก์และคณะบุคคลคงค้างชำระ ณ วันที่มีคำสั่งอายัดว่า ห้ามโจทก์และธนาคารจำหน่าย จ่าย โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ให้แก่บุคคลอื่นใด นอกจากนำส่งเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายจำเลยนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งอายัด และหรือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีเงินฝากเข้ามาในบัญชีภายหลังได้รับคำสั่งอายัด หาได้หมายความว่าเป็นจำนวนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ในขณะนั้นไม่ ซึ่งปรากฏว่าในขณะที่เจ้าพนักงานของจำเลยอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. บัญชีเงินฝากตามคำสั่งอายัดสามบัญชีมียอดเงินคงเหลือ 54.74 บาท, 0 บาท และ 386,374.01 บาท บัญชีเงินฝากธนาคาร ซ. บัญชีเงินฝากตามคำสั่งอายัดมียอดเงินคงเหลือ 463,501.90 บาท บัญชีเงินฝากธนาคาร ก. บัญชีเงินฝากตามคำสั่งอายัดมียอดเงินคงเหลือ 2,622.60 บาท บัญชีเงินฝากธนาคาร ย. บัญชีเงินฝากตามคำสั่งอายัดมียอดเงินคงเหลือ 0 บาท และบัญชีเงินฝากธนาคาร ท. บัญชีเงินฝากตามคำสั่งอายัดมียอดเงินคงเหลือ 0 บาท ทั้งได้ความจากนางสาวสุวัฒนา นิติกรชำนาญการของจำเลยว่า เจ้าพนักงานของจำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีที่เป็นคณะบุคคลไว้ 3 ราย มิใช่บังคับโจทก์เพียงผู้เดียว คือ โจทก์ มีมูลค่าตามราคาประเมิน 116,239,050 บาท นายสมศักดิ์ มีมูลค่าตามราคาประเมิน 37,118,834.52 บาท และนางเมธินี ถูกอายัดบัญชีเงินฝากไว้หลาย เมื่อรวมรายการทรัพย์สินที่ได้มีการยึดและอายัดไว้ทั้งหมดแล้ว พบว่าทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีที่ได้มีการยึดและอายัดไว้มีราคาประเมินรวม 153,357,884.52 บาท ซึ่งก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ภาษีอากรค้าง ณ ปี 2561 ซึ่งมี 920,047,432.25 บาท ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การไว้เช่นนี้ แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งถึงการยึดและอายัดทรัพย์สินจำนวนและมูลค่าดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เกินกว่าจำนวนหนี้ภาษีอากรค้าง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ก็ฟังไม่ขึ้น และที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลไม่เป็นห้างหุ้นส่วน หากโจทก์ต้องรับผิดก็คงรับผิดไม่เกิน 1 ใน 3 ของหนี้ภาษีอากร นั้น เห็นว่า โจทก์มีเงินภาษีที่ค้างชำระในฐานะที่เป็นบุคคลในคณะบุคคลนายสมศักดิ์ นาย ป. และนางเมธินี ซึ่งประมวลรัษฎากรมาตรา 56 วรรคสอง บัญญัติว่า "...ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นมีภาษีค้างชำระ ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลทุกคนร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย" โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระร่วมกับนายสมศักดิ์ และนางเมธินีทั้งหมดหาใช่รับผิดเพียง 1 ใน 3 ไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.