โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2529 ถึงวันที่ 28ธันวาคม 2530 โจทก์นำเข้าแหวนลูกสูบ กาบเพลา กระบอกลูกสูบ วาวและบ่าวาวของเครื่องยนต์ที่มีเครื่องหมายการค้า เอ็น.พี.อาร์.ไดโด้และฟูจิ จากโรงงานผู้ผลิตโดยตรงในประเทศญี่ปุ่น ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า 14 ฉบับ โดยสำแดงราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ซื้อขาย จะต้องชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน 6,673,963.19 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งว่าราคาที่โจทก์สำแดงต่ำกว่าเกณฑ์ราคาประเมินที่กำหนดไว้ จึงสั่งให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าที่นำเข้าให้สูงขึ้นเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียภาษีอากร รวมเป็นเงิน 9,491,945.90 บาทเกินกว่าที่ควรต้องเสียไปจำนวน 2,817,982.71 บาท โจทก์คัดค้านการประเมินราคาดังกล่าว และยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลย แต่จำเลยยืนยันการประเมินตามเดิมอันเป็นการไม่ชอบเพราะมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ขอให้ศาลพิพากษาว่าการประเมินของจำเลยไม่ชอบ และเพิกถอนการประเมินดังกล่าวเสีย กับให้จำเลยคืนเงิน 2,818,982.71 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงนั้น ไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แต่เป็นราคาที่โจทก์และผู้ขายกำหนดขึ้นให้ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงเพื่อให้เสียภาษีอากรน้อยกว่าที่จะต้องเสียพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ถือตามคำสั่งทั่วไป กรมศุลกากรที่ 28/2527 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์ ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2527 ในการประเมินราคาโดยให้เปรียบเทียบกับราคาอะไหล่แท้และถือเกณฑ์ให้ต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 5 ในกรณีที่ใช้ได้กับยานยนต์หลายยี่ห้อให้ใช้ราคาของอะไหล่แท้ที่สูงเป็นเกณฑ์ ส่วนกรณีนอกจากนี้ให้ต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 10-30 ปรากฏว่าราคาที่โจทก์สำแดงต่ำกว่าราคาตามเกณฑ์ประเมินดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงประเมินราคาเพิ่มขึ้นและให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มขึ้นขณะที่โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและโจทก์ได้ยอมชำระเพิ่มแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ มีว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง 14 ฉบับ เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ เห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นอะไหล่ยานยนต์ที่มีเครื่องหมายการค้า เอ็น.พี.อาร์.ไดโด้ และฟูจิซึ่งยานยนต์ยี่ห้อโคมัตสุ ฮีโน มิตซูบิชิ โตโยต้า ซูบารุ นิสสันและอีซูซุ ใช้ทดแทนอะไหล่แท้ตามรายละเอียดที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้าที่ตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ยี่ห้อดังกล่าวได้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ประเมินอากรตรวจสอบและอนุมัติแล้วตามเอกสาร ล.1 แผ่นที่ 121 ถึง130, 161 ถึง 201, 206 ถึง 258 และ 261 ถึง 270 ราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าจึงควรมีราคาตามบัญชีราคาสินค้าหรือใกล้เคียงกับราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ยี่ห้อดังกล่าวเสนอให้เจ้าหน้าที่ประเมินอากรได้ตรวจสอบและรับรองราคาไว้ แต่ปรากฏว่าราคาที่โจทก์สำแดงนั้นต่ำกว่าราคาตามบัญชีราคาสินค้ามาก โดยโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าแตกต่างกับสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าที่ตัวสินค้าหรือภาชนะบรรจุอย่างไรอันจะเป็นเหตุให้ราคาต่างกันมากเช่นนั้น ดังนั้น ราคาที่โจทก์สำแดงจึงไม่ใช่ราคาขายส่งเงินสดทั่วไปที่ไม่มีการลดหย่อนราคาแก่กัน ถือไม่ได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ฉะนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 โดยเปรียบเทียบกับราคาตามบัญชีราคาสินค้าของอะไหล่แท้และถือเกณฑ์ให้ต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 5 ในกรณีที่อะไหล่ดังกล่าวใช้ได้กับยานยนต์หลายยี่ห้อให้ใช้ราคาของอะไหล่แท้ที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์และต่างกันไม่เกินร้อยละ 20 ในกรณีที่ใช้ทดแทนได้กับอะไหล่แท้โดยทั่วไป จึงเป็นการเทียบราคาที่มีเหตุผล ถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามกฎหมายเป็นการประเมินราคาที่ชอบแล้วโจทก์จึงต้องเสียอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามเกณฑ์ราคาที่ประเมินซึ่งโจทก์ได้เสียไว้เป็นจำนวนที่ถูกต้องแล้วหาได้เสียเกินไปกว่าที่จะต้องเสียตามกฎหมายไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ชำระไว้แล้วคืน ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.