โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านและรับรองแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 10646 ที่รังวัดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน หากไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนโดยให้จำเลยที่ 1 ออกค่าใช้จ่าย ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดิน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 68,400 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 5,700 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะถอนคำคัดค้านและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ห้ามมิให้โจทก์และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 10646 ที่รังวัดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย 66,600 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 5,550 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 ตุลาคม 2560) เป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจำเลยที่ 2 จะถอนคำคัดค้านหรือมีการถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 45,000 บาท คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่ม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามคำฟ้องเดิมและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาและพิพากษาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์เป็นภริยาของนายพินิจ เดิมนายพินิจและนายธวัชชัย ร่วมกันประกอบกิจการโรงงานทำตะเกียบอยู่ในที่ดินซึ่งไม่มีหลักฐานสำหรับที่ดิน เมื่อเลิกกิจการนายธวัชชัยได้ที่ดินส่วนที่เป็นที่ตั้งโรงงาน นายพินิจได้ที่ดินส่วนที่เหลือ วันที่ 24 สิงหาคม 2538 เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 10646 เนื้อที่ 45 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา ให้แก่นายพินิจ โดยทิศตะวันตกติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9854 เนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 ส่วนทิศตะวันออกติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 10644 เนื้อที่ 34 ไร่ 3 งาน 8 ตารางวา ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2537 วันที่ 3 มกราคม 2543 นายพินิจถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายพินิจ เมื่อปี 2555 โจทก์ยื่นคำร้องขอสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 10646 พบว่าจำเลยที่ 1 กับบริวารบุกรุกที่ดินทั้งแปลงโดยปลูกต้นยางพาราเต็มพื้นที่ จึงฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 กับบริวารและเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่ดินเป็นของนายพินิจและพิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 กับบริวารออกจากที่ดิน กับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 495/2556 ของศาลชั้นต้น วันที่ 9 ธันวาคม 2558 โจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 10646 อีกครั้ง จำเลยที่ 1 คัดค้านแนวเขต มีเนื้อที่ 3 งาน 79.4 ตารางวา จำเลยที่ 2 คัดค้านแนวเขต มีเนื้อที่ 27 ไร่ 3 งาน 8.5 ตารางวา โดยมีต้นยางพาราปลูกอยู่เต็มพื้นที่ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งคู่ความไม่อุทธรณ์ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการครอบครองปรปักษ์ และจำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10646 เนื้อที่ 27 ไร่ 3 งาน 8.5 ตารางวา ที่พิพาท ตามแนวเขตเส้นสีน้ำเงิน โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่า เดิมที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 2 คัดค้านเป็นของนายพินิจที่ขายให้จำเลยที่ 1 และนายอนุมัติ โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วบุคคลทั้งสองยกให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยที่ 2 จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นเพียงการบรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่มาของการที่จำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท หากข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทในโฉนดที่ดินของนายพินิจ โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 10 ปี ก็อาจได้กรรมสิทธิ์จากการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ให้การยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 มาแต่ต้น อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 เองได้ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา แต่โฉนดที่ดินเลขที่ 10646 ที่มีชื่อนายพินิจเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายพินิจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ประกอบมาตรา 1599 จำเลยที่ 2 จึงมีภาระในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายพินิจขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และนายอนุมัติ โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วบุคคลทั้งสองยกให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี นั้น จำเลยที่ 2 มิได้อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ที่นายอิฐิรัตน์ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ว่า พยานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เลี้ยงวัว เมื่อปี 2548 พยานเข้าไปเลี้ยงวัวในที่ดินโฉนดเลขที่ 9854 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจึงปลูกต้นยางพารา จำเลยที่ 2 เคยแจ้งอาณาเขตของที่ดินว่าตั้งอยู่บนที่ราบสูง จำเลยที่ 2 สมัครเข้าร่วมโครงการปลูกยางพาราต่อหน่วยงานราชการ พยานเริ่มปลูกต้นยางพาราในที่ดินของจำเลยที่ 2 เมื่อปี 2549 จนถึงปัจจุบันตามแนวเขตเส้นสีเทาและแนวเขตเส้นสีน้ำเงิน โดยไม่เคยมีใครคัดค้านพื้นที่ดังกล่าว อันเป็นการรู้เห็นในช่วงของการเลี้ยงวัวและปลูกต้นยางพาราในที่ดินโฉนดเลขที่ 9854 ของจำเลยที่ 2 ในปี 2549 เป็นต้นมาเท่านั้น นายอิฐิรัตน์หาได้รู้เห็นถึงเรื่องราวของการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ให้การตั้งเป็นประเด็นไว้ ที่จำเลยที่ 2 สมัครเข้าร่วมโครงการปลูกยางพาราต่อหน่วยงานราชการ ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำไปเข้าร่วมโครงการก็โดยการอ้างถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 10645 และ 9854 เนื้อที่รวมประมาณ 32 ไร่ และประสงค์เข้าร่วมโครงการในที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 30 ไร่ มิใช่เป็นการนำที่ดินพิพาทไปเข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด กับไม่อาจที่จะกระทำได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่มีสิทธิพิเศษใดเหนือที่ดินพิพาท ที่นายอิฐิรัตน์รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ขอความอนุเคราะห์จากการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดพิษณุโลกให้ทำการตรวจสอบแปลงยางเพื่อหาอายุของต้นยางพาราที่ปลูกว่ามีอายุมากกว่า 10 ปี เป็นการตรวจสอบแปลงยางพาราในที่ดินโฉนดเลขที่ 9854 มิใช่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 10646 ของโจทก์เช่นกัน นอกจากนี้ การที่โจทก์เคยรังวัดสอบเขตเมื่อปี 2555 แล้วพบว่าจำเลยที่ 1 กับบริวารบุกรุกที่ดินโฉนดเลขที่ 10646 ทั้งแปลง จึงยื่นฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 กับบริวารเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 495/2556 ของศาลชั้นต้น โดยไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยด้วย และจำเลยที่ 2 เองมิได้ร้องสอดเข้าไปในคดีเพื่อให้ได้รับความรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนทั้งในเรื่องของที่ดินและต้นยางพาราที่ปลูกไว้ อันมิใช่วิสัยของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินจะพึงละเลยเช่นนี้ได้ ทั้งยังทำให้เห็นว่าเป็นเพราะในช่วงปี 2555 มีเพียงจำเลยที่ 1 กับบริวารที่เข้าไปบุกรุกที่ดินโฉนดเลขที่ 10646 ด้วยการปลูกต้นยางพาราเต็มทั้งแปลง จำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 10646 และในขณะนั้นอายุของต้นยางพาราก็น่าจะยังไม่สูงนัก จึงน่าเชื่อว่าต้นยางพาราในที่ดินพิพาทตามที่จำเลยที่ 2 อ้างในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนปลูกคือต้นยางพาราที่เคยเป็นข้อพิพาทกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 495/2556 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 1 หรือบริวารปลูกไว้มาแต่เดิมมากกว่า มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยการปลูกต้นยางพารามาตั้งแต่ปี 2549 ข้อที่จำเลยที่ 2 นำสืบอ้างว่า จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองและปลูกต้นยางพาราในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ตามที่เคยขอเข้าร่วมโครงการต่อหน่วยงานราชการและการตรวจสอบอายุต้นยางพารา จึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ทั้งระหว่างโจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับบริวารที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ย่อมไม่อาจที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 และบริวารได้ครอบครองที่ดินของผู้อื่นโดยความสงบระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นความกันในคดีดังกล่าวได้ และแม้หากจำเลยที่ 2 จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาจากจำเลยที่ 1 อย่างเร็วที่สุดก็ต้องเริ่มระยะเวลานับแต่คดีหมายเลขแดงที่ 495/2556 ของศาลชั้นต้น ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2560 ยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไม่ว่าในทางใด พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ประกอบมาตรา 1599 ได้ คดีฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 20,000 บาท แทนโจทก์