โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 65, 70, 71 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกจากที่ดินที่ครอบครอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 70 ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน และปรับ 60,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้อง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ที่ดินบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยซับเหล็ก เนื้อที่ประมาณ 2,419 ไร่ อยู่ในเขตสุขาภิบาลโคกตูม เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นที่ดินราชพัสดุเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ภายในเขตหวงห้ามไว้สำหรับประโยชน์ในราชการทหาร และเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินเพื่อการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี พุทธศักราช 2485 และต่อมามีการปรับแนวเขตใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี พ.ศ.2518 ประชาชนไม่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี ต่อมาที่ดินบริเวณสันอ่างเก็บน้ำห้วยซับเหล็กประสบปัญหาราษฎรเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ตั้งร้านขายสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยตามฟ้องทำเป็นร้านค้าและร้านขายอาหารแก่นักท่องเที่ยว ชื่อร้าน "แป้งร่ำ" เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา อยู่ในที่ดินอันเป็นของรัฐนั้นด้วย สำหรับความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง ห้ามมิให้คู่ความฎีกา คดีเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คำว่า "ก่อสร้าง" หมายความว่า สร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นแทนของเดิมหรือไม่ "ดัดแปลง" หมายความว่า เปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของโครงสร้างของอาคารหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม และมิใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง และ "ซ่อมแซม" หมายความว่า ซ่อมหรือเปลี่ยนส่วนต่าง ๆ ของอาคารให้คงสภาพเดิม และโดยที่ความผิดฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องเริ่มนับถัดจากวันที่ก่อสร้างดัดแปลงอาคารเสร็จลง แต่พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมา ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยเริ่มก่อสร้างหรือดัดแปลงซุ้มหลังใดเสร็จลงตั้งแต่เมื่อใดระหว่างต้นปี 2556 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยก่อสร้างหรือดัดแปลงซุ้มเสร็จปี 2547 ตามคำเบิกความของนายสุเทพพยานโจทก์ซึ่งเป็นกำนันตำบลนิคมสร้างตนเองพื้นที่เกิดเหตุเท่านั้น ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจะซ่อมแซมปรับปรุงหลังคาซุ้มทุก 2 ปี ตามที่นำสืบ แต่การเปลี่ยนหลังคาซึ่งมุงด้วยหญ้าแฝกเดิมที่หมดสภาพแล้วมุงใหม่ มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของซุ้ม แต่เป็นการซ่อมเปลี่ยนหลังคาเพื่อปรับปรุงให้ซุ้มอยู่ในสภาพเดิมที่ใช้งานได้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว อันเป็นเพียงการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างเท่านั้น มิใช่การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่จะต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 26 กันยายน 2560 จึงเกินกว่า 5 ปี นับแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยก่อสร้างอาคารเสร็จโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีสำหรับความผิดนี้จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) และต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินเกิดเหตุเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นที่ดินราชพัสดุเป็นที่ดินของรัฐ และเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินเพื่อการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี ประชาชนไม่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี ดังนั้น การที่จำเลยยึดถือครอบครองและปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยปราศจากเหตุอันจะอ้างตามกฎหมายได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เกิดเหตุได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1