โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,014,437.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 483,099.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,014,437.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 483,099.81 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 483,099.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548) ให้ไม่เกิน 10,522.31 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นให้โจทก์ไม่ทันตามกำหนดและครบจำนวนที่กำหนดนั้น มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือจากความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจึงต้องรับผิดชำระเงินค่ามันสำปะหลังเส้นที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ส่งมอบแก่โจทก์เป็นเงิน 483,099.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าปรับอัตราร้อยละ 0.2 ต่อวัน ของต้นเงินค่ามันสำปะหลังที่ยังไม่ส่งมอบแก่โจทก์เป็นเงิน 2,520,815.80 บาท ตามสัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังระบุว่า ผู้รับจ้างจะต้องทำมันสำปะหลังเส้นให้ครบจำนวนตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด และจะต้องทำการขนส่งและส่งมอบมันสำปะหลังเส้นให้แก่ผู้ซื้อมันสำปะหลังเส้นจากผู้ว่าจ้างให้ครบตามจำนวน และทันตามกำหนดเวลาที่ผู้ว่าจ้างจะได้แจ้งให้ทราบในแต่ละคราว หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำมันสำปะหลังเส้นให้ได้ครบจำนวนตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด และส่งมันสำปะหลังเส้นได้ทันตามกำหนดเวลา หรือส่งมอบไม่ครบจำนวนตามที่ผู้ว่าจ้างได้แจ้งให้ทราบนั้นมาจากความล่าช้า หรือความบกพร่องของผู้รับจ้างก็ดี และผู้รับจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างตกลงชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างในอัตราร้อยละ 0.2 ของจำนวนมันสำปะหลังเส้นที่ยังมิได้ส่งมอบ นับถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเสร็จสิ้นเรียบร้อยในแต่ละคราว ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวบ่งชี้ว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาการส่งมอบมันสำปะหลังเส้นตามที่โจทก์จะกำหนด ให้ส่งมอบในแต่ละคราว แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบได้ทันตามเวลาที่โจทก์กำหนดหรือส่งมอบไม่ครบจำนวน และจำเลยที่ 1 ยังมิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นแก่โจทก์เป็นเงิน 483,099.81 บาท และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ได้ตามสัญญาดังกล่าว ที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสอง ก็เป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อล่วงเลยเกินกว่า 7 ปีแล้วก็ตาม จะถือว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เพราะตามสัญญาข้อ 11 ดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ แต่ที่โจทก์เรียกค่าปรับและคำนวณมาเป็นเงิน 2,520,815.80 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเสียภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยไว้จนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยกำหนดค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าปรับจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในส่วนนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าปรับ 200,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ