โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ, 357 และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายท้ายฟ้องไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นและคำขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนท้ายฟ้องเป็นเงิน 3,820,000 บาท แก่ผู้เสียหายให้ยก
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 มีคนร้ายหลายคนร่วมกันเข้าไปในบ้านเลขที่ 301/40 ซึ่งเป็นเคหสถานของนายวีรพล ผู้เสียหาย และใช้วัตถุของแข็งไม่ทราบชนิดและขนาด งัดแงะ ทุบทำลายประตูบ้านด้านหลัง ประตูห้องนอนและประตูห้องพระ จนเสียหายหลุดออกอันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์และผ่านเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย จากนั้นร่วมกันลักเอานาฬิกาข้อมือ 16 เรือน พระรูปเหมือนหลวงพ่อคูณปี 33 จำนวน 15 องค์ พระสังกัจจายน์หลวงพ่อคูณปี 33 จำนวน 15 องค์ พระหลวงปู่ดุลกำแพงแสน 3 องค์ พระไม่ทราบรุ่นและชนิด 2 กล่อง รวม 20 รายการ เป็นเงิน 5,020,000 บาท ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2559 นายพงศ์ภพ ซึ่งเป็นผู้ซื้อนาฬิกายี่ห้อปาเต๊ะ รุ่น 5712/1A /001 ของกลาง ราคา 725,000 บาท จากนายณัฐ แต่จำเลยเป็นผู้นำมาให้นายวริศปกรณ์ และนายวริศปกรณ์มอบนาฬิกาของกลางดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา ผู้เสียหายรับคืนแล้ว ส่วนความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยกับพวกเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ที่โต๊ะสนุกเกอร์ที่ตั้งอยู่ที่ซอยพัฒนาการ 30 กรุงเทพมหานคร การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยนายกัมปนาถชักชวนให้นายวริศปกรณ์ซื้อนาฬิกาของกลางที่ซอยพัฒนาการ 30 กรุงเทพมหานคร และพาไปประเทศกัมพูชา แต่นายกัมปนาถรอที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ส่วนนายกอล์ฟและจำเลยอยู่ประเทศกัมพูชา แม้จำเลยจะเป็นเพียงผู้ส่งมอบนาฬิกาของกลางที่ประเทศกัมพูชา แต่จำเลยเป็นผู้แจ้งหมายเลขบัญชีธนาคารกสิกรไทยที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ให้นายวริศปกรณ์โอนเงินค่านาฬิกาเข้าบัญชีดังกล่าว ถือว่าจำเลยในฐานะตัวการได้กระทำผิดในราชอาณาจักรไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 และมาตรา 6 ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2559 จำเลยมามอบตัวตามหมายจับ เมื่อการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นกรณีความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (2) และ (3) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นท้องที่ที่จับจำเลยได้อยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มิใช่กรณีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกอาณาจักรไทยอย่างเดียว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เมื่อจำเลยมามอบตัวตามหมายจับ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมาทำการสอบสวน การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะเพิ่งยกชั้นยกขึ้นฎีกา มิได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ตาม ก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ส่งมอบนาฬิกาของกลางให้ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อจำเลยกับพวกร่วมแบ่งหน้าที่กันทำและจำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ซึ่งจำเลยย่อมทราบว่านาฬิกาของกลางราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริงมาก ขั้นตอนในการซื้อขายนาฬิกาซับซ้อน ไม่ใช่การซื้อขายนาฬิกาโดยทั่วๆ ไป พฤติกรรมของจำเลยจึงเป็นการช่วยจำหน่ายโดยรู้อยู่แล้วว่านาฬิกาของกลางได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน