โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 141,089,506.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 120,446,521.08 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ร่วมรับผิดชำระเงิน 22,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสิบไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 49970 ถึง 49972 และ 137030 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 ถึง 155352 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 5008 และ 5009 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรทะเบียนเลขที่ 52–323–606–0163 ถึง 52–323–606–0174 เลขที่ 53–323–606–0086 ถึง 53–323–606–0088 และเลขที่ 53–323–606–0090 ถึง 53–323–606–0096 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสิบให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 135,030,881.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 120,446,521.08 บาท นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ร่วมกันชำระเงิน 22,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสิบไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 49970 ถึง 49972 และ 137030 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 ถึง 155352 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 5008 และ 5009 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรทะเบียนเลขที่ 52–323–606–0163 ถึง 52–323–606–0174 เลขที่ 53–323–606–0086 ถึง 53–323–606–0088 และเลขที่ 53–323–606–0090 ถึง 53–323–606–0096 รวม 22 เครื่อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสิบอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า หากมีการบังคับจำนองยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 ถึง 155352 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับที่ดินโฉนดเลขที่ 5008 และ 5009 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์อีก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นกรรมการ ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ มีจำเลยที่ 6 เป็นกรรมการ ส่วนจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 7 ที่ 8 และที่ 10 เป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2557 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากโจทก์ 4 ประเภท ประเภทที่หนึ่ง สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 30,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 ขอเพิ่มวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีอีก 5,000,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 35,000,000 บาท ประเภทที่สอง สัญญากู้เงิน 20,000,000 บาท ประเภทที่สาม สัญญากู้เงิน 30,000,000 บาท และประเภทที่สี่ สัญญากู้เงินระยะสั้นวงเงิน 25,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 ขอเพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นอีก 17,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 42,000,000 บาท โดยในการเบิกเงินกู้ จำเลยที่ 1 ทำคำขอเบิกเงินกู้และออกตั๋วสัญญาใช้เงินสั่งจ่ายเงินให้ไว้แก่โจทก์เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับแต่ละครั้ง และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อโจทก์ในวงเงิน 105,000,000 บาท โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม วันที่ 11 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 2 และที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้ไว้ต่อโจทก์ในวงเงิน 5,000,000 บาท และหนี้ตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงินระยะสั้นในวงเงิน 17,000,000 บาท วันที่ 30 ตุลาคม 2557 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 49970 ถึง 49972 และ 137030 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันในวงเงิน 105,000,000 บาท ตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดส่วนที่ขาดจนครบถ้วน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองเครื่องจักร ทะเบียนเลขที่ 52–323–606–0163 ถึง 52–323–606–0174 เลขที่ 53–323–606–0086 ถึง 53–323–606–0088 และเลขที่ 53–323–606–0090 ถึง 53–323–606–0096 เป็นประกันในวงเงิน 16,620,000 บาท ตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดส่วนที่ขาดจนครบถ้วน วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 6 และที่ 7 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันในวงเงิน 22,000,000 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155351 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันหนี้ซึ่งได้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 จำเลยที่ 4 และที่ 8 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155352 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันหนี้ซึ่งได้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 จำเลยที่ 8 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5008 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันหนี้ซึ่งได้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 และจำเลยที่ 10 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5009 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันหนี้ซึ่งได้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2559 จำเลยทั้งสิบทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในหนี้ทั้งสี่ประเภทกับโจทก์ และวันที่ 21 เมษายน 2560 จำเลยทั้งสิบทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์อีกครั้ง ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสิบแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยผู้ค้ำประกันและจำเลยผู้จำนองร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมและที่แก้ไขใหม่หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้จำเลยที่ 6 และที่ 7 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 22,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155351 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 4 และที่ 9 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155352 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 8 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5008 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และจำเลยที่ 10 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5009 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 ภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งทำให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่ประกันนั้นเกินราคาที่ดินที่จำนองในเวลาบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมจึงยังคงใช้บังคับได้ และไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 681/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินราคาทรัพย์สินที่จำนอง ทั้งนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 ไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 (ที่แก้ไขใหม่) ไว้เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงยังคงมีความผูกพัน ในอันที่จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า หากมีการบังคับจำนองยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์อีก นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยของต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินตามฟ้องในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ที่จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ทำไว้กับโจทก์ จะกำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แต่หนี้ตามสัญญาจำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ กรณีจึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชีและสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 22,000,000 บาท นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป และศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 ร่วมรับผิดชำระเงิน 22,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และหากมีการบังคับจำนองยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 155350 ถึง 155352 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับที่ดินโฉนดเลขที่ 5008 และ 5009 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ