โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ได้เงินเดือน ค่าอาหาร ค่ารับรองแขก ค่าพาหนะ รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ ๑๐,๓๐๐ บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสและค่ารักษาพยาบาลด้วย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความเสียหาย จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ โจทก์ตามกฎหมาย กับเงินโบนัวและค่ารักษาพยาบาล โจทก์เรียกร้องแล้วจำเลยไม่จ่ายให้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยให้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน จำเลยบอกเลิกการจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ส่วนเงินโบนัสและค่ารักษาพยาบาล สัญญาจ้างมิได้ระบุว่าโจทก์มีสิทธิได้รับ ทั้งยังปรากฏว่าโจทก์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งมิใช่โรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตามสัญญาจ้าง และอยู่ในบังคับของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์ได้รับเงินเดือน ค่าอาหาร ค่ารับรองแขก และค่าพาหนะรวมเป็นเงินเดือนเดือนละ ๑๐,๐๕๐ บาท ถ้าโจทก์มีสิทธิได้รับโบนัสจะได้รับ ๑๕,๐๐๐ บาท จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ โจทก์เพียงครึ่งเดียวเป็นเงิน ๓,๑๗๘.๕๐ บาท ที่เหลือไม่จ่ายให้ และไม่สืบพยานบุคคล
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๓๐,๑๕๐ บาท โบนัส ๑๔,๐๐๐ บาท และค่ารักษาพยาบาลที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๓,๑๗๘.๕ บาท รวมเป็นเงิน ๔๘,๓๒๘.๕๐ บาท ให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาเรื่องค่าชดเชยนั้น เรื่องระยะเวลาการจ้างได้ระบุไว้ในสัญญาจ้างข้อ ๔ ว่า จนกว่าหรือเว้นแต่ท่านจะได้รับทราบจากฝ่ายบริหารของบริหารของบริษัทฯ เป็นอย่างอื่น สัญญาจ้างระหว่างท่านและบริษัทฯ ฉบับนี้ ได้กระทำขึ้นมีกำหนดเป็นรายปี และตราบเท่าที่สภาพการจ้างของท่านยังเป็นรายปี การจ้างงานอาจจะสิ้นสุดลงโดยฝายใดฝ่ายหนึ่ง บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ ฝ่ายที่บอกเลิกจะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า ๑ เดือน หรืออาจจ่ายค่าจ้างให้ ๑ เดือน เป็นการตอบแทนทั้งนี้การบอกเลิกสัญญาไม่จำเป็นต้องแจ้งเหตุผลใด ๆ ให้ทราบ และในข้อ ๕ ว่า เว้นแต่จะมีการเลิกจ้างดังระบุไว้ในข้อ ๔ ข้างต้น บริษัทฯ อาจต่ออายุการจ้างของท่านออกไปอีกมีกำหนด ๑ ปี ..... ได้ ตามสัญญาดังกล่าวโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ หรือต่ออายุสัญญาจ้างออกไปได้ครั้งละ ๑ ปี นานเท่าใดก็ได้ ระยะเวลาการจ้างจึงไม่แน่นอน เวลาที่กำหนดไว้ ๑ ปี นั้นไม่มีผลบังคับอย่างแท้จริง โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีระยะเวลาการจ้างกำหนดไว้แน่นอน อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
ปัญหาเรื่องโบนัสนั้น จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อ ๑๗ คือจ่ายโบนัสให้โจทก์ สัญญาข้อ ๗ มีข้อความว่า ยกเว้นดังที่ได้ระบุไว้ในข้อ ๖ ข้างต้นให้ถือว่า ท่านยังคงอยู่ภายใต้กฎและระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่มีอยู่แล้ว และหรือที่จะได้กำหนดขึ้นใหม่ แก้ไขเปลี่ยนแปลง สำหรับท่านโดยเฉพาะเป็นบางครั้งบางคราวในกรณีพิเศษ โดยฝ่ายบริหารของบริษัทฯ นั้น มิได้ให้สิทธิจำเลยที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนั้น สัญญาดังกล่าวเพียงแต่ให้สิทธิจำเลยที่จะกำหนดขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบที่มีอยู่แล้ว หากยังมิได้แก้ไขก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบเดิม จะไม่ปฏิบัติตามโดยอ้างว่ามีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขหาได้ไม่ คดีนี้จำเลยมิได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อ ๑๗ ซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายโบนัสให้โจทก์ จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามนั้น จำเลยไม่มีสิทธิที่จะไม่ให้โบนัสโจทก์
สำหรับปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลนั้น ระเบียบข้อ ๑๓ (๓) ระบุไว้ว่า ค่าเข้ารักษาในโรงพยาบาลนั้น พนักงานในระดังออฟฟิซเซอร์ มีสิทธิเข้ารับการรักษาในชั้นหนึ่ง ของโรงพยาบาลรัฐบาลในประเทศ ..... ในกรณีที่การรักษาพยาบาลหรือการผ่าตัดดังกล่าวไม่อาจกระทำได้ในโรงพยาบาลรัฐบาล แพทย์ประจำของบริษัทฯ มีสิทธิที่จะแนะนำให้พนักงานไปทำการรักษาในโรงพยาบาลอื่นใดที่เชื่อถือได้ นอกเหนือจากที่ระบุข้างต้น เห็นว่า ผู้ปฏิบัติตามระเบียบนี้เท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล ระเบียบไม่จำเป็นต้องระบุว่าผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบไม่มีสิทธิได้รับ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โรงพยาบาลที่โจทก์เข้ารักษามิใช่เป็นของรัฐบาล หรือเป็นโรงพยาบาลที่แพทย์ประจำของจำเลยกำหนดหรือแนะนำ โจทก์จึงไม่มีสิทธิ ได้รับค่ารักษาพยาบาล การที่จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ครึ่งหนึ่งนั้นไม่เป็นเหตุให้โจทก์กลับมีสิทธิขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ๓,๑๗๘.๕๐ บาท ให้โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง