โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 277, 283 ทวิ, 317 บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 275/2557 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด เข้ากับโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ และนับโทษของจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 384/2559 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและนับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณานาย อ. ผู้ร้องที่ 2 ในฐานะส่วนตัว และในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ธ. ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ร้องที่ 1 และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาพยาบาลผู้ร้องที่ 1 จำนวน 6,000 บาท และค่าเสียหายด้านจิตใจของผู้ร้องที่ 1 จำนวน 500,000 บาท และค่าเสียหายของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปมีรายได้วันละ 300 บาท หลังเกิดเหตุต้องเฝ้าดูอาการของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งอยู่ในภาวะซึมเศร้า เป็นเหตุให้ผู้ร้องที่ 2 ขาดงานเป็นเวลา 2 เดือน คิดเป็นค่าเสียหายเป็นเงิน 18,000 บาท รวมเป็นเงิน 524,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันยื่นคำร้องเป็นเงิน 16,375 บาท รวมเป็นเงิน 543,375 บาท ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 543,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 524,000 บาท นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่, 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน กับฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง กับฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 5 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน คงจำคุก 4 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน รวมโทษของจำเลยที่ 1 คงจำคุก 43 ปี 12 เดือน รวมโทษของจำเลยที่ 2 คงจำคุก 36 ปี 8 เดือน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 543,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 524,000 บาท นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุผู้ร้องที่ 1 มีอายุ 13 ปีเศษ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องที่ 2 กับนางสาว ว. ผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 1 คบหาเป็นคนรักกัน ผู้ร้องที่ 1 นัดพบกับจำเลยที่ 1 ที่ทุ่งนาห่างจากบ้านผู้ร้องที่ 1 ไม่มากนัก จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้ร้องที่ 1 พาผู้ร้องที่ 1 ไปที่บ้านจำเลยที่ 1 ต่อมาเวลาประมาณ 18 นาฬิกา เพื่อนของจำเลยที่ 1 มาดื่มสุราที่บ้านจำเลยที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 ร่วมดื่มด้วยจนมีอาการมึนเมา จำเลยที่ 1 พาผู้ร้องที่ 1 เข้าไปกระทำชำเราในห้องนอนของจำเลยที่ 1 ต่อมาเวลาประมาณ 19.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาผู้ร้องที่ 1 ไปที่บ้านซึ่งมีเพื่อนของจำเลยที่ 1 ร่วมดื่มสุรากันอยู่ประมาณ 10 คน จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์มาหาจำเลยที่ 1 และร่วมดื่มสุราด้วย จนเวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ชวนจำเลยที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ไกลจากบ้านนาย ห. จำเลยที่ 1 จึงขับรถจักรยานยนต์พาผู้ร้องที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 และได้กระทำชำเราผู้ร้องที่ 1 ในห้องชั้นล่างของบ้านจำเลยที่ 2 คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนให้ลงโทษฐานพาและร่วมกันพาผู้ร้องที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร กระทำชำเราผู้ร้องที่ 1 ซึ่งมิใช่ภริยาของตน พรากผู้ร้องที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควรไปเสียจากผู้ร้องที่ 2 เพื่อการอนาจารและร่วมกันกระทำชำเราผู้ร้องที่ 1 อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 พรากผู้ร้องที่ 1 ไปจากผู้ร้องที่ 2 เพื่อการอนาจารหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 ว่า หลังจากผู้ร้องที่ 1 พบจำเลยที่ 2 ที่บ้านนาย ห. แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาผู้ร้องที่ 1 ไปดื่มสุราต่อที่บ้านจำเลยที่ 2 ดังนี้ แม้การพรากผู้ร้องที่ 1 ไปจากผู้ร้องที่ 2 เริ่มขึ้นด้วยการกระทำของจำเลยที่ 1 ไปจนถึงบ้านนาย ห. แล้วยังพาผู้ร้องที่ 1 ต่อไปยังบ้านจำเลยที่ 2 อีก โดยจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นยินยอมและเดินทางไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังได้กระทำชำเราผู้ร้องที่ 1 ต่อจากจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งที่จำเลยที่ 2 ย่อมรู้ว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นคนรักของจำเลยที่ 1 จึงบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้เห็นกันในการพาผู้ร้องที่ 1 ไปกระทำชำเราที่บ้านจำเลยที่ 2 โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าร่วมกับจำเลยที่ 1 พรากผู้ร้องที่ 1 ไปพ้นจากอำนาจปกครองของผู้ร้องที่ 2 ตั้งแต่บ้านนาย ห. เป็นต้นไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ก่อนนั้นจะเสร็จสิ้นขาดตอนลงหรือไม่หาเป็นสาระสำคัญไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ร่วมกันพาผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 13 ปีเศษ ไปดื่มสุราในยามวิกาลจนถึงขั้นผลัดเปลี่ยนกันกระทำชำเราผู้ร้องที่ 1 ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงแผนการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มุ่งประสงค์จะล่วงละเมิดทางเพศแก่ผู้ร้องที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานโดยปราศจากเหตุอันสมควรร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร ที่ศาลอุทธรณ์ ฃพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร และความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว หาใช่ความผิดต่างกรรมตามที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมาไม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารและความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร สำหรับจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียว จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน กับฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 4 ปี และฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินห้าสิบปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง กับฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 33 ปี 4 เดือน แล้วรวมโทษของจำเลยที่ 1 จำคุก 40 ปี 8 เดือน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 540,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 524,000 บาท นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ