โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 136, 138
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาพันตำรวจเอก ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 (เดิม) ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน ให้จำเลยชำระเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้จำเลยฟังโดยชอบเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ขณะพันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรทุ่งใหญ่ โจทก์ร่วม และร้อยตำรวจเอกสัมภาษณ์ พนักงานสอบสวน กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรทุ่งใหญ่ จำเลยพูดกับโจทก์ร่วมและร้อยตำรวจเอกสัมภาษณ์ว่า "ตำรวจไม่รับแจ้งความ" "ตำรวจไม่รับแจ้งความเหตุปล้นทรัพย์" และ "ผู้กำกับเหลี่ยมใส่เราแล้ว" เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมให้จับกุม ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยให้การปฏิเสธ สำหรับความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ความผิดของจำเลยในข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือไม่ เห็นว่า การดูหมิ่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หมายถึง การด่า ดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนี้ จำเลยได้กล่าวขณะที่โจทก์ร่วมเรียกจำเลยกับพวกไปสอบถามถึงเหตุที่แจ้งความให้ดำเนินคดีกับคนร้ายที่ร่วมกันปล้นรถยนต์ ซึ่งได้ความว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีชื่อนางสาวสาวิตรี เป็นผู้ครอบครองมิใช่จำเลย โจทก์ร่วมจึงให้นางสาวสาวิตรีเป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง นางสาวสาวิตรีแจ้งว่าวันเกิดเหตุพนักงานของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อมายึดรถยนต์ของตน เป็นเหตุให้จำเลยเกิดความไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ร่วมทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ร่วมเป็นไปตามขั้นตอนการทำงานตามปกติ ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะรับแจ้งความเรื่องใดย่อมต้องสอบถามข้อเท็จจริงให้ได้ความชัดแจ้งว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นเสียก่อน เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนมิให้เกิดการกลั่นแกล้งกันโดยการนำความเท็จมาแจ้ง ที่จำเลยพูดกับโจทก์ร่วมด้วยถ้อยคำดังกล่าวอันหมายถึงโจทก์ร่วมใช้เล่ห์เหลี่ยมไม่รับแจ้งความตามที่นางสาวสาวิตรีแจ้ง ทำให้ผู้ที่ได้ยินเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริต ถ้อยคำดังกล่าวเช่นนี้จึงมิใช่เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่เป็นการกล่าวถ้อยคำสบประมาทโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาความหมายถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนี้เป็นการดูหมิ่นโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 (เดิม) จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อมาว่า มีเหตุลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วางโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรปราณีให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยการรอการลงโทษให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำไม่กลับไปกระทำความผิดอีก และเพื่อให้เกิดผลในทางแก้ไขความประพฤติของจำเลยให้อยู่ในกรอบสังคมอันดีสมควรวางโทษปรับอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 2,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในกำหนดดังกล่าว ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8