โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โจทก์ได้ลาคลอดมีกำหนด 30 วัน โจทก์ทำงานกับจำเลยมาเกิน 180 วันแล้วมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 18จำนวน 30 วัน เป็นเงิน 2,100 บาท ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด เป็นเงิน 2,100 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันครบลาคลอดจนถึงวันฟ้อง
จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้ลาคลอดต่อจำเลย อีกทั้งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีข้อพิพาทแรงงานตกลงกันไม่ได้ จำเลยได้ใช้สิทธิปิดงานต่อโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิในการลาเพื่อขอรับค่าจ้างใด ๆ จากจำเลยอีก ขอให้พิพากษายกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยปิดงานเนื่องจากมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2528 โจทก์คลอดบุตรเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2528และกลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 ทั้งนี้เพราะจำเลยกับพนักงานตกลงกันได้ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2528 ศาลแรงงานกลางเห็นว่าประเด็นข้อพิพาทมีว่า การที่โจทก์คลอดบุตรดังกล่าวจำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด และคดีพอวินิจฉัยได้จึงสั่งงดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "...ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 18 บัญญัติว่า "ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ให้มีสิทธิลาเพื่อการคลอดเพิ่มขึ้นจากวันลาป่วยที่กำหนดไว้ในข้อ 12 วรรคหนึ่งโดยไม่ได้รับค่าจ้างอีกหกสิบวันรวมทั้งวันหยุดด้วย แต่ถ้าหญิงนั้นได้ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันให้มีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่าเวลาที่ลาตามอัตราที่ได้รับอยู่ แต่ไม่เกินสามสิบวัน ฯลฯ" อันเป็นการคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์โดยให้มีสิทธิลาเพื่อการคลอดเพิ่มขึ้นจากวันลาป่วยและในกรณีที่โจทก์คลอดบุตรในช่วงแรกระหว่างที่จำเลยใช้สิทธิปิดงานนั้น เห็นว่าการปิดงานของจำเลยผู้เป็นนายจ้างนั้นเป็นการใช้สิทธิตามนัยแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หมวด 2 วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน มาตรา 22 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกรณีเช่นว่านี้...นายจ้างจะปิดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ก็ได้ ฯลฯ" ดังนั้นในกรณีที่โจทก์คลอดบุตรในช่วงแรกระหว่างจำเลยปิดงานนั้นถึงแม้โจทก์ไม่ได้คลอดบุตรโจทก์ก็มิได้ทำงานให้แก่จำเลย เพราะจำเลยปิดงานอันเป็นกรณีที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานชั่วคราวตามมาตรา 5 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ในเมื่อโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างในระหว่างปิดงานเช่นนี้ จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างของตนเพราะการจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ดังนั้นในกรณีที่โจทก์คลอดบุตรช่วงแรกระหว่างที่จำเลยปิดงานนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากจำเลย ส่วนในช่วงที่สอง นับตั้งแต่วันเปิดงานจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานนั้น ก็ปรากฏว่า โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิลาเพื่อการคลอดเพราะมิได้ยื่นใบลาคลอดตามระเบียบเกี่ยวกับการลาคลอดของจำเลย โจทก์จึงไม่มีวันลาเพื่อการคลอดอันพึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่าเวลาที่ลาตามอัตราที่ได้รับอยู่ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 18 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ดังกล่าวข้างต้นอีกเช่นเดียวกัน ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.