โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาโจทก์ลาออก อายุการทำงานของโจทก์เกิน 5 ปี โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย โจทก์ขอรับเงินดังกล่าว จำเลยปฏิเสธอ้างว่าโจทก์มีอายุการทำงานไม่ครบ 5 ปี ไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ วิธีนับอายุการทำงานตามระเบียบที่จำเลยกำหนดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินบำเหน็จพร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จจากจำเลยตามฟ้อง จำเลยให้โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2518 จำเลยบรรจุโจทก์เป็นพนักงานประจำตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2519 ระยะเวลาทำงานเพื่อคำนวณบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงต้องเริ่มนับจากวันที่ 2 พฤษภาคม 2519ไม่ใช่วันที่ 1 สิงหาคม 2518 เมื่อโจทก์ออกจากงานในวันที่ 16 ตุลาคม 2523จึงมีระยะเวลาทำงานไม่ครบ 5 ปี ตามเงื่อนไขที่จะได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยเงินบำเหน็จกำหนดว่า "เมื่อผู้ปฏิบัติงานออกจากงานหรือถึงแก่ความตาย ให้ธนาคารจ่ายเงินบำเหน็จแล้วแต่กรณีดังต่อไปนี้ (1) จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเมื่อผู้ปฏิบัติงานออกจากงานโดยมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป" ส่วนวิธีนับระยะเวลาทำงานกำหนดไว้ว่า "ระยะเวลาทำงานหมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันบรรจุผู้ปฏิบัติงานเข้าทำงานประจำในธนาคารจนถึงวันที่ออกจากงาน" ดังนี้จึงต้องเริ่มนับระยะเวลาทำงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2519 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานของธนาคารจำเลย ไม่ใช่นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2518 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างชั่วคราวฉะนั้น ระยะเวลาการทำงานในฐานะพนักงานประจำของโจทก์นับถึงวันลาออกจึงไม่ครบ 5 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายแก่ลูกจ้างของจำเลยนั้น เป็นเงินที่จำเลยสมัครใจจ่ายเพื่อตอบแทนแก่ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานมานานโดยไม่มีความผิด ไม่ใช่เงินที่กฎหมายกำหนดให้จำเลยต้องจ่าย ดังนั้นจำเลยจะวางเงื่อนไขและวิธีการอย่างไรย่อมสุดแล้วแต่ดุลพินิจของจำเลย ข้อบังคับของจำเลยจึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างไร
พิพากษายืน