โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 134, 160 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 46, 83 ริบรถยนต์ ของกลางพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย และสั่งให้จำเลยทำทัณฑ์บนตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 134 วรรคสอง (ที่ถูก วรรคหนึ่งและวรรคสอง), 160 ทวิ จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ (ที่ถูก ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ยกคำขอริบรถยนต์ของกลาง และคำขอสั่งจำเลยให้ทำทัณฑ์บน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 2 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษกักขังจำเลย 1 เดือนแทนโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ไม่ลงโทษปรับ (ที่ถูก ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่ลงโทษปรับให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทนมีกำหนด 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23) เพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ออกโดยนายทะเบียนจังหวัดระยองของจำเลยริบรถยนต์ ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพียงใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะไปในที่จัดแข่งเท่านั้น มิได้ใช้ในการแข่งรถนั้น เห็นว่า ความผิดที่โจทก์ฟ้อง มิใช่ความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยร่วมกันจัด สนับสนุน หรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถและร่วมกันแข่งรถในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย เนื่องจากต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาหรือประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย รวมทั้งการกำหนดวิธีการคุมความประพฤติที่เหมาะสมแก่จำเลย อันเป็นอำนาจศาลที่จะรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานประกอบตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 มาตรา 31 เท่านั้น หาใช่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่จะนำมาเป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยความผิดให้แตกต่างจากการกระทำที่ถูกฟ้องได้ การที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะไปในที่จัดแข่ง มิได้ใช้ในการแข่งรถในทำนองเดียวกับที่ให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤตินั้น จึงเป็นการฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ผิดไปจากที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังข้อเท็จจริงมาตามฟ้อง อันเป็นการขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลย และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ย่อมเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่นำรถยนต์ของกลางมาใช้เข้าร่วมแข่งขันเพื่อประลองความเร็วบนถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกันในเวลากลางคืน นอกจากทำให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงและผู้ที่ใช้รถสัญจรไปมาเกิดความเดือดร้อนรำคาญแล้วยังอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางดังกล่าว นับเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนรำคาญของผู้อื่น และไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง อันเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน มีภาระต้องดูแลบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นตามที่อ้างในฎีกา ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า สมควรริบรถยนต์ของกลางหรือไม่ เห็นว่า รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการร่วมกันจัด สนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถ และร่วมกันแข่งรถในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) การที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางมาใช้แข่งในทางสาธารณะนอกจากเป็นการกระทำซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางร่วมกับจำเลยแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง และก่อให้เกิดความไม่สงบสุขในสังคม แม้จำเลยจะมีความจำเป็นในการใช้รถยนต์ของกลางเพื่อประกอบสัมมาชีพ แต่การริบรถยนต์ของกลางเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และเป็นการป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะเช่นเดียวกันอีกย่อมเป็นวิธีการที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ริบรถยนต์ของกลางมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแล้ว ได้มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ประกาศใช้บังคับ โดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 134 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 134 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดแข่งรถในทางเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรวรรคสอง ..." และมาตรา 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 134/1 และมาตรา 134/2 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยมาตรา 134/1 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใด จัด โฆษณา ประกาศ ชักชวน หรือดำเนินการด้วยวิธีการใดเพื่อให้มีการแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 134 ..." เช่นนี้ มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ยังคงให้บทบัญญัติที่ให้ผู้แข่งรถในทางเป็นความผิดอยู่ และมาตรา 134/1 ยังคงบัญญัติให้ผู้จัด หรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทางเป็นความผิด กฎหมายใหม่จึงไม่ได้ยกเลิกความผิดตาม มาตรา 134 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ส่วนอัตราโทษและการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่นั้น พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มาตรา 30 ให้ยกเลิกความในมาตรา 160 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งตามมาตรา 160 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 134 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่" และวรรคสองบัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 134/1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ตามมาตรา 160 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จึงมีระวางโทษปรับขั้นต่ำสูงกว่ากฎหมายเดิมและโทษตามมาตรา 160 ทวิ วรรคสอง มีระวางโทษจำคุกและปรับสูงกว่ากฎหมายเดิม ดังนั้น โทษตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 17 ส่วนการที่บทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (ที่แก้ไขใหม่) มีส่วนที่เป็นคุณในเรื่องการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ที่บัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ซึ่งเป็นคุณกว่าบทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (เดิม) ที่บัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนโดยไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวของจำเลย จำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น แม้บทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (ที่แก้ไขใหม่) มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยแต่ก็ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่จำเลยได้
พิพากษายืน