โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินค่าทดแทนที่ดินจากการเวนคืนที่ดินโฉนดเลขที่ 2840 ตำบลสวนหลวง (พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอประเวศ (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 705,074,683.56 บาท ชำระเงินค่าทดแทนความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการเวนคืนของจำเลยทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 1,505,728,377.97 บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินร้อยละ 9.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,974,414,283 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเปิดทางให้ที่ดินดังกล่าวของโจทก์ ตลอดแนวทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงใต้ให้มีทางเข้าออกสู่ถนนศรีนครินทร์และถนนพระราม 9 โดยให้ถนนมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน 12,947,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 4 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 9.5 ต่อปีตามขอ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลังให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายืนใหม่ภายในอายุความเฉพาะประเด็นแห่งคดีที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื่องจากมีราคาลดลงหรือไม่ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 (3)
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "...คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 140,000 บาท นั้นเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาอ้างว่า เดิมที่ดินของโจทก์ส่วนที่จะต้องเวนคืนมีอาณาเขตติดต่อทั้งถนนศรีนครินทร์และถนนพระราม 9 ตัดใหม่ มีความยาวประมาณ 80 เมตร ก่อนที่ที่ดินของโจทก์จะต้องเวนคืนคดีนี้ โจทก์ได้พัฒนาที่ดินดังกล่าวเพื่อจัดสรรขายพร้อมอาคารพาณิชย์ เดิมที่ดินเป็นทุ่งนามีน้ำขัง หลังจากซื้อแล้วโจทก์ได้นำเดินมาถมบดอัดทำให้ที่ดินของโจทก์สูงกว่าที่ดินข้างเคียงประมาณ 2 เมตร และสูงกว่าถนนศรีนครินทร์ประมาณ 50 เซนติเมตร โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงให้ก่อสร้างถนนเข้าออกเชื่อมกับถนนศรีนครินทร์กว้างประมาณ 16 เมตร ต่อมาโจทก์ทราบว่าที่ดินของโจทก์จะต้องเวนคืนเพื่อสร้างถนนพระราม 9 ตัดใหม่ จึงชะลอการก่อสร้างโครงการไว้ก่อนจนโจทก์ทราบแนวเขตที่จะต้องเวนคืนแน่นอนแล้ว โจทก์จึงเริ่มจัดทำและวางแผนดำเนินการต่อไป แต่ยังไม่ได้เริ่มทำการก่อสร้างในปี 2534 ที่ดินของโจทก์จะต้องเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายพญาไท - ศรีนครินทร์ แต่โจทก์ยังไม่ทราบแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนแน่นอนจึงต้องชะลอการก่อสร้างโครงการออกไปอีกและได้ให้บริษัทก่อสร้างสหพันธ์ จำกัด เช่าที่ดินมีกำหนด 3 ปี ที่ดินของโจทก์มีสภาพทำเลที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความเจริญเป็นอย่างมากและอยู่ติดถนนศรีนครินทร์ซึ่งมีช่องเดินรถไปกลับ 6 ช่อง มีเกาะกลางถนนและถนนพระราม 9 ตัดใหม่ ซึ่งมีช่องเดินรถไปกลับ 8 ช่อง มีสาธารณูปโภคครบถ้วน บริเวณใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าต่างๆ มากมาย รวมทั้งโรงพยาบาลและบริษัทห้างร้านมากมาย เป็นศูนย์กลางความเจริญและศูนย์กลางทางธุรกิจการค้า ราคาที่ดินบริเวณนี้จึงสูงและเพิ่มขึ้นทุกปี และมีการซื้อขายกันตั้งแต่ราคาตารางวาละ 200,000 บาท ถึงตารางวาละ 400,000 บาท นอกจากนั้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ยังได้กำหนดเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ตารางวาละ 144,000 บาท ซึ่งที่ดินดังกล่าวล้วนมีสภาพทำเลที่ตั้งและศักยภาพด้อยกว่าที่ดินของโจทก์ ที่ดินของโจทก์จึงควรมีราคาตารางวาละ 400,000 บาท นั้น เห็นว่า ในการเวนคืนที่ดินของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโดยเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ที่ให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ซึ่งในคดีนี้คือวันที่ 1 มกราคม 2535 นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นรวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งจะต้องพิจารณาทุกหลักเกณฑ์ประกอบกัน จะพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเพียงหลักเกณฑ์ใดหลักเกณฑ์เดียวโดยเฉพาะเจาะจงย่อมเป็นการมิชอบ ข้อเท็จจริงได้ความจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ตรงกันว่าในวันที่ 1 มกราคม 2535 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต... พ.ศ.2534 ใช้บังคับไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในบริเวณข้างเคียงที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนเลย ที่โจทก์ฎีกาอ้างเป็นทำนองว่า ราคาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 524, 42904, 52237, 118007 และ 235982 ซึ่งเป็นที่ดินใกล้เคียงที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตารางวาละประมาณ 143,500 บาท ถึง 600,000 บาท นั้น เห็นว่า การซื้อขายที่ดินดังกล่าวที่โจทก์อ้างล้วนแต่เป็นการซื้อขายภายหลังจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต... พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับแล้วทั้งสิ้น จึงมิใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติไว้ ทั้งภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุลิต...พ.ศ.2534 มีผลบังคับใช้แล้วย่อมส่งผลให้ที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่ดินที่จะต้องเวนคืนได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างทางพิเศษ อันจะนำมาซึ่งความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมและความเจริญมาสู่ที่ดินบริเวณดังกล่าว จึงเป็นธรรมดาที่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดหลังจากนั้นจะมีราคาสูงขึ้นตามความเจริญที่มาถึง ประกอบกับการซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นการซื้อขายเฉพาะรายแปลงและมีเหตุและวัตถุประสงค์ในการซื้อขายมุ่งเน้นไปในเชิงธุรกิจการค้า การธนาคารเป็นสำคัญด้วย จึงไม่อาจนำราคาที่ดินดังกล่าวมาเป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ได้ และที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่ดินของโจทก์ซึ่งจะต้องเวนคืนเช่นเดียวกัน แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้สูงกว่าที่ดินของโจทก์ โดยกำหนดเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่นางงามตา นายเอนก นางวิมุติ และที่ดินของบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ตารางวาละ 144,000 บาท แต่กลับกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพียงตารางวาละ 140,000 บาท เท่านั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ก่อนที่จะมีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนพระราม 9 ตัดใหม่ สภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์ ที่ดินของนางงามตา ที่ดินของบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด และที่ดินของนางวิมุติอยู่ติดถนนศรีนครินทร์ แต่ภายหลังจากมีการเวนคืนที่ดินดังกล่าวเพื่อสร้างถนนพระราม 9 ตัดใหม่แล้ว ทำให้สภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวทุกแปลงเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจะอยู่ติดถนนพระราม 9 ตัดใหม่ และไม่ได้มีส่วนติดถนนศรีนครินทร์ ส่วนที่ดินของนางงามตาและบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด จะมีที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ติดถนนศรีนครินทร์และถนนพระราม 9 ตัดใหม่ สำหรับที่ดินของนางวิมุติและนายเอนกยังคงอยู่ติดถนนศรีนครินทร์เช่นเดิม จะเห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือนี้จะอยู่ติดถนนพระราม 9 ตัดใหม่ ยาวกว่าเดิมจากที่เคยอยู่ติดถนนศรีนครินทร์ ส่วนที่ดินของบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด จะมีส่วนที่เหลือทางด้านทิศตะวันตกอยู่ติดถนนศรีนครินทร์น้อยกว่าเดิม แต่มีที่ดินส่วนที่เหลือทางทิศใต้อยู่ติดถนนพระราม 9 ตัดใหม่เพิ่มขึ้นอีกถนนหนึ่ง สำหรับที่ดินของนางงามตาคงมีที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ติดถนนศรีนครินทร์น้อยกว่าเดิมเล็กน้อย แต่มีที่ดินส่วนที่เหลือทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ติดถนนพระราม 9 ตัดใหม่เพิ่มขึ้นอีกถนนหนึ่ง ถนนศรีนครินทร์เป็นถนนสายหลักที่มีการพัฒนาและมีความเจริญมานานแล้ว มีทั้งศูนย์การค้า ธนาคาร โรงพยาบาล โรงแรมและอาคารสิ่งปลูกสร้างมากมาย อันถือได้ว่าเป็นแหล่งธุรกิจการค้าที่เจริญแล้ว และเป็นถนนเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดสมุทรปรากการ จึงเชื่อได้ว่าที่ดินของนางงามตา นายเอนก บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด และนางวิมุติน่าจะมีราคาสูงกว่าที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ซึ่งอยู่ติดถนนพระราม 9 ตัดใหม่เพียงถนนเดียว ทั้งบริเวณดังกล่าวเป็นทางโค้งทางแยก เมื่อคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2535 ซึ่งสูงกว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเรียกเสียภาษีบำรุงท้องที่สภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินโจทก์ที่จะต้องเวนคืน ตลอดจนเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบกับโจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบไม่ได้ว่า ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ตามที่เป็นอยู่ในวันที่ 1 มกราคม 2535 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับมีราคาเท่าใดแล้ว น่าเชื่อว่า ที่ดินของโจทก์ซึ่งจะต้องเวนคืนมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่สูงถึงตารางวาละ 400,000 บาท ดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อเปรียบเทียบสภาพและทำเลที่ตั้งที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนดังกล่าวแม้ได้มีการถมดินบดอัดแน่นเพื่อเตรียมการพัฒนาเป็นที่จัดสรรขายกับที่ดินแปลงอื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันซึ่งยังมิได้มีการถมดินเช่นเดียวกับที่ดินของโจทก์ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ได้กำหนดเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้เป็นตารางวาละ 144,000 บาท แล้ว แต่ที่ดินแปลงอื่นมีทำเลดีกว่าดังวินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ 55,000 บาท เป็นตารางวาละ 140,000 บาท นั้น เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนนี้ให้แก่โจทก์นั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงหรือไม่ เพียงใด ข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นข้อนี้โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในอายุความเป็นการมิชอบขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นนี้ด้วย โจทก์อ้างว่าเดิมที่ดินของโจทก์ก่อนจะต้องเวนคืนคดีนี้สามารถเข้าออกถนนพระราม 9 ตัดใหม่และถนนศรีนครินทร์ได้ มีความกว้างอยู่ติดถนนเกือบ 100 เมตร แต่หลังจากจะต้องเวนคืนแล้วที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือไม่ได้อยู่ติดถนนพระราม 9 ตัดใหม่และถนนศรีนครินทร์ ทั้งยังอยู่ติดกับทางลงถนนศรีนครินทร์ซึ่งมีระดับสูงกว่าที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถพัฒนาใช้ประโยชน์ในที่ดินนี้ได้เต็มที่และที่ดินมีมูลค่าลดลงร้อยละ 50 ราคาเหลือเพียงตารางวาละ 200,000 บาท ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีมูลค่าลดลงเป็นเงิน 1,035,800,000 บาท เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืออสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการเวนคืน รวมทั้งบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตลอดจนเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกเวนคืนจะได้รับในกรณีใดบ้างไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อที่ดินของโจทก์จะต้องเวนคืนและได้มีการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนจากจำเลยทั้งสี่ ถ้าการเวนคืนที่ดินของโจทก์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และที่ดินส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลงโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องหรือได้รับเงินค่าทดแทนเฉพาะสำหรับที่ดินส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วยตามมาตรา 21 วรรคสาม หาจำต้องรอให้จำเลยที่ 2 ลงมือก่อสร้างหรือก่อสร้างทางลงถนนศรีนครินทร์ให้เสร็จสิ้นก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่และเพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ไปเสียโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก...ศาลฎีกาเห็นว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบตลอดจนฎีกาโจทก์และคำแก้ฎีกาจำเลยทั้งสี่สรุปได้ว่า ขณะที่โจทก์ยื่นฎีกานั้นอยู่ในระหว่างการก่อสร้างทางพิเศษ แต่ยังก่อสร้างทางลงขอทางพิเศษบนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่จะต้องเวนคืนไม่เสร็จ และที่โจทก์อ้างว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจะกลายเป็นที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออกถนนสาธารณะเพราะที่ดินของโจทก์ด้านที่อยู่ติดถนนศรีนรินทร์จะถูกทางลงของทางพิเศษซึ่งมีลักษณะเป็นทางยกระดับลาดลงมาปิดกั้นหน้าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตลอดแนวนั้น ก็มีแต่คำเบิกความของนายอนุพรและนายวณิชชาลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนและเป็นเพียงการคาดคะเนถึงสภาพทำเลที่ตั้งที่ดินของโจทก์เมื่อมีการก่อสร้างทางพิเศษเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องอนาคตยังไม่แน่นอน จึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ ทั้งนายสมพรและนายสุริยะพยานจำเลยทั้งสี่ต่างก็เบิกความยืนยันว่าหากที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนมีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้อยู่ก่อนการเวนคืนแล้ว จำเลยที่ 2 จะพิจารณาทำทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะให้เช่นเดิมประกอบกับคดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงอย่างมากจนเหลือเพียงตารางวาละ 200,000 บาท เนื่องจากถูกทางลงของทางพิเศษปิดกั้นกลายเป็นที่ดินไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ แต่โจทก์นำสืบพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างนอกจากนั้นเมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสี่ประกอบแผนที่และภาพถ่ายท้ายฎีกาของโจทก์แล้วจะเห็นได้ว่าสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจะอยู่ติดแนวเขตทางพิเศษซึ่งเป็นทางลงตรงสี่แยกถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนพระราม 9 ตัดใหม่ และไม่ปรากฏว่ามีทางพิเศษยกระดับส่วนอื่นมาปิดกั้นที่ดินของโจทก์ส่วนเหลือแต่อย่างใดไม่ แต่กลับปรากฏว่ามีถนนอยู่ติดที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ซึ่งเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ก่อสร้างให้เป็นทางเดินรถต่อเชื่อมกับถนนพระราม 9 ตัดใหม่ เพื่อให้รถที่แล่นมาจากถนนพระราม 9 ตัดใหม่ออกสู่ถนนศรีนครินทร์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ อันเป็นเหตุให้ที่ดินดังกล่าวของโจทก์มีราคาลดลงดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายอันเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการตามโครงการกัญญาเฮ้าส์ 4 ของโจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์เพื่อสร้างทางพิเศษของจำเลยที่ 2 ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือไม่สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินการตามโครงการกัญญาเฮ้าส์ 4 ได้ และโจทก์ได้ให้บริษัทก่อสร้างสหพันธ์ จำกัด เช่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนเท่านั้น หาได้ให้เช่าทั้งแปลงไม่สำหรับประเด็นข้อนี้โจทก์คงมีนายวณิชา เพ่งสุข ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณต้นปี 2534 โจทก์คิดจะทำโครงการสร้างศูนย์การค้าและอาคารพาณิชย์ในที่ดิน แต่ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ว่าที่ดินดังกล่าวจะต้องเวนคืน โจทก์จึงชะลอการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไว้ และต่อมาปี 2538 โจทก์ทราบเขตที่จะต้องเวนคืนแน่นอนแล้ว การที่โจทก์ไม่สามารถก่อสร้างศูนย์การค้าและอาคารพาณิชย์ได้ ทำให้โจทก์ขาดผลกำไรจากการก่อสร้างประมาณ 300,000,000 บาท เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน และเป็นเพียงการคาดคะเนหรือคาดหวังว่าจะได้กำไร อันเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน และยังไม่เกิดความเสียหายขึ้น ทั้งโจทก์ยังไม่ได้ประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในที่ดินที่จะต้องเวนคืนนั้นตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคห้าบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะโดยมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ในการเวนคืนที่ดินโฉนดเลขที่ 2840 ของโจทก์บางส่วนในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ดังนั้นโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนหรือสิทธิใดพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ต้องสร้างทางเข้าออกสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตัดข้อความที่ว่า "แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในอายุความเฉพาะประเด็นแห่งคดีที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน เนื่องจากมีราคาลดลงหรือไม่" ออกจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์