โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 51055 เป็นชื่อจำเลยที่ 1 หรือเป็นชื่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนในที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 1 หรือเป็นชื่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล ให้ศาลชั้นต้น รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 51055 เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (รวมค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์) โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันใน ชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมนายศุภชัย และนายอนันต์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27344 เนื้อที่ 17 ไร่ 66 ตารางวา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 ตกลงจะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายศุภชัยและนายอนันต์เพื่อจัดสรร แล้วชำระเงินให้แก่นายศุภชัยและนายอนันต์ 3 ครั้งจนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 เป็นเงิน 500,000 บาท 500,000 บาท และ 2,000,000 บาท ตามลำดับ ก่อนชำระเงินส่วนที่เหลือในวันโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 จัดทำแผนผังที่ดินที่จัดสรร แล้วทำสัญญาจะขายที่ดินบางส่วนตามแผนผังดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 51055 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 50 1/10 ตารางวา เพิ่งแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 27344 โดยเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่นายศุภชัยและนายอนันต์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ครั้นวันที่ 25 สิงหาคม 2559 นายศุภชัยและนายอนันต์จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ครั้นวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.5841/2559 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คดีนี้ ชำระเงิน 4,916,703 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,650,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 ตุลาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ในคดีที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ" และมาตรา 237 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้" ถ้าข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากนายศุภชัยและนายอนันต์ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ ก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมมีสิทธิยึดบังคับคดีได้อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ประกอบกับโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 หรือชื่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ได้ฟ้องนายศุภชัยและนายอนันต์เข้ามาเป็นจำเลยด้วย และไม่ได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายศุภชัยและนายอนันต์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง ดังข้อกล่าวอ้างของโจทก์ อีกทั้งการแสดงเจตนาดังกล่าว คู่สัญญาต้องการให้มีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว ไม่ได้อำพรางนิติกรรมอื่นใด จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางตามมาตรา 155 วรรคสอง ดังข้อกล่าวอ้างของโจทก์เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 บัญญัติว่า "ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้" และมาตรา 234 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย" แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาอำพรางไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ โดยจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากนายศุภชัยและนายอนันต์ แต่ใส่ชื่อของจำเลยที่ 2 แทนจำเลยที่ 1 โจทก์พยายามติดตามทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ แต่ไม่อาจดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้ จึงต้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายดังกล่าว และให้เปลี่ยนชื่อจากจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 1 หรือโจทก์เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 234 แต่เมื่อโฉนดที่ดินพิพาทเป็นเอกสารมหาชน กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ต้องนำสืบพยานหลักฐานหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากโจทก์แจ้งว่า จะนำไปซื้อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้กับอ่าวมะนาวรีสอร์ทจากนายศุภชัยและนายอนันต์ เพื่อนำมาจัดสรร ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่ดังกล่าว นายศุภชัยยืนยันต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ติดต่อและตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากนายศุภชัยและนายอนันต์ผ่านนางสาวแวมูรียะห์ ซึ่งเป็นนายหน้า ครั้นวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2559 นางสาวลัดดา ซึ่งเป็นเลขานุการของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนายศุภกิจ ไปพบโจทก์ที่สำนักงานของโจทก์ แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินไว้แล้วและจะนำที่ดินดังกล่าวทั้งหมดตีใช้หนี้โจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธเพราะต้องการให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นเงิน หลังจากนั้น โจทก์ไม่สามารถติดต่อจำเลยที่ 1 ได้ จนกระทั่งวันศุกร์ของสัปดาห์นั้น โจทก์ไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่พบจำเลยที่ 1 พบนางสาวลัดดาแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ไปงานศพญาติที่ต่างจังหวัด โจทก์พยายามโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 อีกหลายครั้ง แต่ติดต่อไม่ได้ ต่อมาโจทก์ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาสเพื่อสืบทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงทราบว่า ที่ดินแปลงใหญ่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากนายศุภชัยและนายอนันต์มีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยและใส่ชื่อบุคคลอื่นอีกหลายคนรวมทั้งนางสาวลัดดาและจำเลยที่ 2 โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 ไม่มีความสามารถที่จะซื้อที่ดินพิพาท และไม่มีความจำเป็นจะต้องซื้อที่ดินพิพาท ผู้จะซื้อที่ดินจัดสรรจากจำเลยที่ 2 เป็นลูกค้าเดิมของจำเลยที่ 1 ที่ชำระราคาทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 นางสาวลัดดาเสนอขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของนายศุภชัยและนายอนันต์ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,300,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้นางสาวลัดดาพาไปดูที่ดินพิพาทและตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินแล้ว ที่ดินพิพาทไม่มีภาระผูกพัน จึงตกลงซื้อ จำเลยที่ 2 ได้เงินจากการเล่นหุ้นของธนาคาร แต่เกรงว่าจะไม่สามารถเบิกถอนเงินสดจำนวนมากได้ทันช่วงใกล้กับการทำสัญญาซื้อขาย ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 จำเลยที่ 2 เบิกถอนเงิน 700,000 บาท จากบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร นำไปมอบให้แก่นางสาวลัดดาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2559 จำเลยที่ 2 เบิกถอนเงินอีก 835,000 บาท แต่นำเงินส่วนหนึ่งจำนวน 600,000 บาท ไปมอบให้แก่นางสาวลัดดาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 แล้วทำหนังสือมอบอำนาจให้นางสาวลัดดาทำสัญญาซื้อขายแทน เพราะจำเลยที่ 2 ไม่สามารถลางานได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ให้นางสาวลัดดาจัดสรรที่ดินพิพาท ซึ่งนางสาวลัดดาจัดสรรได้ 11 แปลง และจำเลยที่ 2 ยังมีนางสาวลัดดาเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 พยานเสนอขายที่ดินพิพาทของนายศุภชัยและนายอนันต์ให้แก่จำเลยที่ 2 พยานพาจำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินพิพาทและตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินเพื่อให้จำเลยที่ 2 มั่นใจว่า ที่ดินพิพาทไม่มีภาระผูกพัน จำเลยที่ 2 ตกลงจะซื้อที่ดินพิพาทแล้วนัดจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 จำเลยที่ 2 มอบเงินให้แก่พยานเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 จำนวน 700,000 บาท และวันที่ 19 สิงหาคม 2559 จำนวน 600,000 บาท แต่ติดปัญหาผู้ซื้อบางรายทำให้ต้องเลื่อนไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ยังมีนายศุภชัยเป็นพยานเบิกความว่า พยานและนายอนันต์ตกลงขายที่ดินแปลงใหญ่เนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ 66 ตารางวา ราคา 7,380,950 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ติดต่อและตกลงซื้อกับพยานโดยตรง โดยมีนางแวมูรียะห์เป็นผู้ช่วยในการติดต่อกับพยาน มีการทำสัญญาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 โดยจำเลยที่ 1 วางมัดจำเป็นเงินสด 500,000 บาท อีก 3 เดือนต่อมาจะชำระเงินอีก 500,000 บาท กำหนดนัดทำสัญญาโอนที่ดินและชำระเงินส่วนที่เหลือในวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 แต่เมื่อจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ 1 ขอแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่ออกเป็นที่ดินแปลงย่อย 9 แปลง ตามจำนวนผู้ซื้อที่จำเลยที่ 1 จะไปจัดหามา วันที่ 4 พฤษภาคม 2559 จำเลยที่ 1 และนางสาวลัดดาเดินทางไปพบพยาน ขอขยายเวลาโอนที่ดินเนื่องจากหาเงินไม่ทัน ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่พยานเพิ่มอีก 2,000,000 บาท และขอเลื่อนการโอนไปวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 โดยจะชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 4,380,950 บาท ในวันดังกล่าวด้วย แต่เมื่อถึงวันนัดพยานไม่สามารถติดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ต่อมานางสาวลัดดาโทรศัพท์แจ้งพยานว่าสามารถหาผู้ซื้อที่ดินทั้ง 9 แปลงซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทได้แล้วนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 เมื่อถึงวันนัด พยานพบนางสาวลัดดาที่สำนักงานที่ดิน นางสาวลัดดาชำระเงิน 4,380,950 บาท ให้แก่พยาน โดยพยานไม่ได้สอบถามว่าที่ดินที่ผู้ซื้อแต่ละคนจะรับโอนกรรมสิทธิ์มีราคาเท่าใด แล้วมีการทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันดังกล่าว โดยใส่ชื่อบุคคลอื่นรวมทั้งนางสาวลัดดาและจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอน เห็นว่า จำเลยที่ 1 ตกลงจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 27344 จากนายศุภชัยและนายอนันต์เพื่อจัดสรรขาย แล้วจำเลยที่ 1 จัดทำแผนผังที่ดินที่จัดสรรและขายให้แก่บุคคลภายนอกไปบางส่วนก่อนจะมีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 27344 ออกไปเป็นที่ดินแปลงย่อย 9 แปลง ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย โดยที่ดินพิพาทแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 27344 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ก่อนมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 เพียง 1 เดือน ประกอบกับจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินพิพาทโดยการเสนอขายของนางสาวลัดดา ไม่ได้ติดต่อกับนายศุภชัยหรือนายอนันต์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยตรง และไม่ปรากฏว่ามีการต่อรองราคากันแต่อย่างใด แล้วจำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่นายศุภชัยในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายอนันต์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยตรง แต่ส่งมอบเงินให้นางสาวลัดดานำไปชำระให้แก่นายศุภชัยซึ่งไม่สมเหตุผล ส่วนที่จำเลยที่ 2 เบิกความอ้างว่า เงินที่ซื้อที่ดินพิพาทเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้มาจากการเล่นหุ้นซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยที่ 2 เบิกถอนเงิน 700,000 บาท เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 แต่นำไปมอบให้แก่นางสาวลัดดาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 และวันที่ 18 สิงหาคม 2559 จำเลยที่ 2 เบิกถอนเงินอีก 835,000 บาท แต่นำเงินส่วนหนึ่งจำนวน 600,000 บาท ไปมอบให้แก่นางสาวลัดดาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 นั้น จำเลยที่ 2 สามารถแจ้งให้ธนาคารทราบล่วงหน้าว่า จำเลยที่ 2 จะถอนเงิน 1,300,000 บาท ก่อนวันโอนกรรมสิทธิ์ได้ หรือขอถอนเงินแล้วซื้อแคชเชียร์เช็คชำระราคาที่ดินก็ได้ การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 เกรงว่าจะเบิกถอนเงินสดจำนวนมากไม่ทันช่วงใกล้กับการทำสัญญาจึงไม่สมเหตุผล และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เหตุใดจำเลยที่ 2 ต้องส่งมอบเงินสดเป็นการชำระราคาแทนที่จะซื้อเป็นแคชเชียร์เช็ค ประกอบกับจำเลยที่ 2 เบิกถอนเงิน 700,000 บาท ก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นานกว่า 1 เดือน แต่ส่งมอบให้แก่นางสาวลัดดาภายหลังจากเบิกถอนเงินแล้วนานกว่า 1 เดือน อีกทั้งจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานธนาคาร หากจำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินจำนวนมากเช่นนั้นให้แก่นางสาวลัดดา น่าจะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือว่า นางสาวลัดดารับมอบเงินจำนวนมากดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 เพื่อชำระราคาที่ดินพิพาท แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ซึ่งไม่สมเหตุผลเช่นเดียวกัน คำเบิกความดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และนางสาวลัดดาจึงเลื่อนลอยโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาแล้ว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมว่าจะจัดสรรที่ดินมีเนื้อที่แปลงย่อยแปลงละเท่าใด และมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาขายที่ดินที่จัดสรรด้วย นอกจากนี้ สัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำระหว่างจำเลยที่ 2 กับนางสาวสุนิสา ทำขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ระบุว่า นางสาวสุนิสาตกลงจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรแปลง A4 และกล่าวอ้างว่ามีการผ่อนชำระราคามาแล้ว 66,000 บาท ทำให้น่าเชื่อว่า การจัดสรรที่ดินพิพาทของนางสาวลัดดาเป็นการจัดสรรตามแผนผังที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขึ้นไว้ตั้งแต่แรก และผู้จะซื้อดังกล่าวทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 แล้วผ่อนชำระราคาให้แก่นางสาวลัดดาซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 มาก่อน ต่อมาจึงเปลี่ยนสัญญาฉบับใหม่ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จะขายในราคาเดิมที่จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางสาวสุนิสา แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินที่นางสาวสุนิสาผู้จะซื้อผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ตกเป็นของจำเลยที่ 2 ด้วย หรือจำเลยที่ 2 เรียกร้องเงินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ทั้งไม่มีหลักฐานการรับชำระราคาที่ดินที่จัดสรรจากผู้จะซื้ออีกด้วย ซึ่งไม่สมเหตุผล แม้พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่อาจรับฟังได้อย่างสนิทใจว่า จำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ไปชำระราคาที่ดินพิพาทด้วย แต่พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ชื่อเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคสอง โจทก์ไม่สามารถติดต่อจำเลยที่ 1 ได้ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งน่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้แล้วยังขาดนัดยื่นคำให้การในคดีนี้อีกด้วย ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ และจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ในคดีที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาศาลฎีกาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสอง และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 51055 เป็นชื่อจำเลยที่ 1 ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท