โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91, 251, 252, 264, 265, 268, 341 ริบเอกสารปลอมและเอกสารที่มีรอยตราประทับปลอม กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 7,655,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางจันทนี ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันใช้เอกสารและเอกสารราชการปลอม ร่วมกันใช้ดวงตราหรือรอยตราปลอมของทบวงการเมืองหรือของเจ้าพนักงาน และร่วมกันฉ้อโกง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251, 252, 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก, 341 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำปลอมรอยตราของทบวงการเมืองหรือของเจ้าพนักงาน จำคุก 2 ปี ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันปลอมเอกสารราชการกับความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมและร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมเอกสารนั้นเอง ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมและร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันใช้รอยตราปลอมของทบวงการเมืองหรือของเจ้าพนักงานและฐานร่วมกันฉ้อโกง ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องความผิดส่วนนี้มาในข้อเดียวกันประสงค์ให้ลงโทษแต่เพียงกระทงเดียว จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้รอยตราปลอมของทบวงการเมืองหรือของเจ้าพนักงานซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี ริบเอกสารปลอมและเอกสารที่มีรอยตราประทับปลอม และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วมชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ ศาลล่างทั้งสองจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วม การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วมจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 อีกกระทงหนึ่งชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมรอยตราประทับของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ซึ่งเป็นรอยตราประทับของทบวงการเมืองและเป็นรอยตราของเจ้าพนักงานสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ขึ้นมาทั้งดวง แล้วนำรอยตราปลอมที่ทำขึ้นดังกล่าวไปใช้ประทับลงในเอกสารหนังสือความต้องการลูกจ้าง หนังสือมอบอำนาจ และหนังสือสัญญาจ้างแรงงานของบริษัทแซดโพล กอสโปรดาร์สทู อ๊อคร๊อคนิคซ์ หลังจากนั้นจำเลยกับพวกร่วมกันนำเอกสารที่มีรอยตราประทับปลอมดังกล่าวไปใช้แสดงและมอบให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานและฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 และ 252 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 จึงต้องลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 263 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 อีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
นอกจากนี้ การที่จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเอกสารสัญญาที่จะออกหนังสืออนุญาตการทำงานสำหรับชาวต่างชาติ ปลอมเอกสารการอนุญาตให้คนหางานเดินทางเข้าไปในสาธารณรัฐโปแลนด์ (วีซ่า) ของสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐโปแลนด์ ปลอมหนังสือของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ถึง กรมการจัดหางาน ปลอมรอยตราประทับของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ขึ้น แล้วนำรอยตราปลอมที่ทำขึ้นดังกล่าวไปใช้ประทับลงในเอกสารหนังสือความต้องการลูกจ้าง หนังสือมอบอำนาจ และหนังสือสัญญาจ้างแรงงานของบริษัทแซดโพล กอสโปรดาร์สทู อ๊อคร๊อคนิคซ์ จากนั้นนำเอกสารปลอม เอกสารราชการปลอม และเอกสารที่มีรอยตราปลอมดังกล่าวไปแสดงแก่โจทก์ร่วม เป็นการกระทำที่ล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ หลอกลวงโจทก์ร่วมให้หลงเชื่อแล้วจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 และความผิดฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 263 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์