โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 83 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1, 9, 108 ทวิ และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 และที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2020/2548 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (2), 108 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 5 ปี ปรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 รายละ 10,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 และที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2020/2548 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั้น เนื่องจากศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาให้รอการลงโทษ จึงไม่อาจนับโทษต่อ ให้ยกคำขอ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี และยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้เรือซึ่งมีเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการขุดลอกลำน้ำ รถบรรทุก และรถทำการดูดทรายบริเวณพื้นที่ติดต่อกับคลองบางบาล อันเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ และเป็นบริเวณที่หวงห้ามตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เป็นเหตุให้ชายตลิ่งริมคลองบางบาลถูกทำลายจนพังทลายเป็นความยาว 450 เมตร และทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นคุ้งน้ำขนาดใหญ่ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาต คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยโจทก์ไม่ฎีกา
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า การดูดทรายที่ทำให้ริมตลิ่งคลองบางบาลพังทลายเป็นความยาว 450 เมตร กับการดูดทรายที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 เป็นการกระทำครั้งเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2020/2548 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2371/2550 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เห็นว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) มุ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดอันหนึ่ง ๆ ในคราวเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2371/2550 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการโรงงานโดยทำการดูดทรายบนที่ดินอันเป็นการแปรสภาพ ลำเลียงและทำลายหิน กรวด ดิน ทราย โดยใช้เครื่องจักรอันเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกประกอบกิจการดูดทรายบริเวณบ่อทรายซึ่งอยู่ติดกับคลองบางบาลทำให้ริมตลิ่งคลองบางบาลพังไปเป็นคุ้งน้ำยาวตามลำน้ำประมาณ 300 เมตร ลึกเข้าไปจากริมตลิ่งประมาณ 200 เมตร ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ทำการดูดทรายบริเวณพื้นที่ติดต่อกับคลองบางบาล เป็นเหตุให้ชายตลิ่งริมคลองบางบาลถูกทำลายจนพังทลายลง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2371/2550 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและคดีนี้จึงเป็นการกระทำในสถานที่เกิดเหตุเดียวกันคือ การดูดทรายในที่ดินบริเวณริมคลองบางบาล ตำบลวัดยม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำความผิดในคดีก่อนเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 ส่วนคดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเมื่อระหว่างต้นปี 2540 ถึง 2547 ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาเดียวกันหาใช่เป็นการกระทำแยกจากกันหรือต่างกรรมต่างวาระกันไม่ เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2371/2550 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์มิได้ฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2371/2550 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ระงับไปตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์