โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้โอนทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์เป็นของตนเองและของจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนการโอน
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสี่ทราบว่าเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว แต่ใช้สิทธิเรียกร้องเกินกว่า 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นยายของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1562 ส่วนโจทก์ที่ 1 ฟ้องเกินกว่า 1 ปีนับแต่รู้ถึงการตายของเจ้ามรดก จึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกโดยมิชอบ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1562 และคดีโจทก์ทั้งสี่ไม่ขาดอายุความ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์ที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 โอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ เห็นว่าเป็นกรณีพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กับกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งมีจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หาได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวที่จำเลยที่ 1 เป็นยายของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อันจะพึงถือว่าเป็นกรณีพิพาทระหว่างหลานกับยายไม่แม้จำเลยที่ 1ได้ถึงแก่กรรมไปในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย กลายเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ฟ้องของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้วนั้น เห็นว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นทายาทฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของผู้ตาย จำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททั้งหมดเท่านั้น จะยกอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสี่หาได้ไม่ คดีโจทก์ทั้งสี่จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ทรัพย์พิพาทไม่เป็นมรดกของผู้ตายเพราะจำเลยที่ 1 และสามีซื้อทรัพย์พิพาททั้งสองแปลงแต่ใส่ชื่อผู้ตายและบุคคลอื่นไว้แทนนั้น เห็นว่า ข้อฎีกาดังกล่าวจำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสี่แก้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตลอดจนค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสี่ในศาลล่างทั้งสองนั้น เห็นว่าการให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพิพากษาเช่นนั้นได้"
พิพากษายืน.