มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 72615แขวงบางซื้อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ผู้ร้องทั้งสองร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 72615 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึด ไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลย เดิมนายยรรยง บิดาผู้ร้องที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2930 นายยรรยงขายที่ดินแปลงนี้ให้จำเลย 2 ไร่ ซึ่งจำเลยต้องแบ่งที่ส่วนทีเหลือคืนให้แก่นายยรรยง ครั้นจำเลยแบ่งแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 72615แล้วจำเลยนำไปจำนองแก่โจทก์ เมื่อนายยรรยงถึงแก่กรรม ผู้ร้องที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของนายยรรยงตามคำสั่งศาล ขอให้สั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นทรัพย์ของจำเลยเดิมจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2930 ตำบลบางเขนฝั่งใต้ (บางซื่อ) อำเภอบางซื่อ (ดุสิต) กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาจำเลยได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2930ออกไปอีก 12 โฉนด รวมทั้งโฉนดที่พิพาทด้วย โดยครอบการจำนองไว้ทุกโฉนด โจทก์รับจำนองที่ดินดังกล่าวไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 2930 และเลขที่ 72615 มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทก็เป็นความประมาทของผู้ร้องเองที่มิได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อที่ผู้ร้องฎีกาว่า การที่จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72615 เป็นการมีชื่อแทนในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายยรรยง กาญจนินทร จำเลยไม่มีอำนาจนำที่ดินเฉพาะส่วนของนายยรรยงไปจำนองแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 72615 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายยรรยงโดยจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทนนายยรรยง แต่ก็ได้ความว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 2930 นายยรรยงแบ่งขายให้จำเลยบางส่วนแต่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปลงให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงนี้แต่เพียงผู้เดียว และจำเลยก็ได้จำนองที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ในวันเดียวกัน ต่อมาจำเลยแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยอีก 12 แปลง โฉนดจึงเพิ่มขึ้นอีก 12 โฉนดรวมทั้งโฉนดที่ดินเลขที่ 72615 ด้วย และการจำนองคงครอบไปทุกโฉนด ดังนั้น การที่นายยรรยงตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งแปลงให้มีชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียวนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นโดยเปิดเผยว่าที่ดินทั้งหมดรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลย จึงเท่ากับเป็นการยอมให้จำเลยผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนตนทำการออกหน้าว่าเป็นเจ้าของที่ดินคนเดียว กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยมีฐานะเป็นตัวแทนของนายยรรยงในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินของนายยรรยง และนายยรรยงก็อยู่ในฐานะเป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ เมื่อจำเลยซึ่งมีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ในโฉนดนำที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างไปจำนองไว้แก่โจทก์ก็ต้องถือว่านายยรรยงยอมให้จำเลยทำการออกหน้าเป็นตัวการในการจำนอง นายยรรยงเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนนี้จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อันเขามีต่อจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนและโจทก์ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 การจำนองที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์ย่อมมีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายยรรยงด้วยผู้ร้องที่ 1 ผู้รับมรดกของนายยรรยงซึ่งเป็นผู้รับโอนหามีสิทธิดีกว่านายยรรยงผู้โอนไม่ ดังนี้ผู้ร้องที่ 1 จะอ้างสิทธิของตนในทรัพย์สินที่พิพาทขึ้นยันโจทก์หาได้ไม่ สำหรับผู้ร้องที่ 2นั้นไม่ปรากฏว่ามีสิทธิในที่ดินของนายยรรยงอย่างไรแม้นิติกรรมจำนองจะระบุว่า สิ่งปลูกสร้างที่จะมีขึ้นบนที่ดินแปลงนี้ในภายหน้าจำนองด้วยทั้งสิ้น ไม่ได้ระบุถึงสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ก่อนแล้วก็หมายความว่าจำนองสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ก่อนแล้วด้วย เพราะสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นเป็นส่วนควบของที่ดิน หากไม่ต้องการจำนองก็ต้องระบุเป็นข้อยกเว้นไว้..."
พิพากษายืน.