โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 764579 และ 764580 ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเนื่องจากคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 764579 และ 764580 ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเนื่องจากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ผู้ขอจดทะเบียนใช้สิทธิโดยไม่สุจริตลอกเลียนมาจากเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายของโจทก์ และเครื่องหมายตามคำขอเลขที่ 764579 ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเนื่องจากไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ยกคำคัดค้านของโจทก์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 633/2558 และที่ 634/2558 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนเสีย ให้นายทะเบียนของจำเลยระงับการจดทะเบียนเครื่องการค้าตามคำขอเลขที่ 764579 และ 764580 ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายบรรทูรหรือโรจนินทร์ ผู้ขอจดทะเบียน ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 764579 และ 764580 ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) จึงให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 633/2558 และ 634/2558 โดยให้นายทะเบียนของจำเลยระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศเนเธอร์แลนด์และเป็นบริษัทในเครือของเดอะ ฟอร์มูล่า วัน กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มของบริษัทที่รับผิดชอบในการส่งเสริมกิจการการแข่งขันรถยนต์ชิงแชมป์โลกฟอร์มูล่าวันของสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ และ ในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยโจทก์ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าและบริการจำพวก 4, 18, 25, 28, 35, 38, 41, 42 และ 43 ตั้งแต่ปี 2540 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553 จำเลยร่วมยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 764579 และเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 764580 สำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้า แว่นตา ทั้งสองคำขอ จำเลยร่วมเคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองไว้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2542 และวันที่ 29 มีนาคม 2532 เป็นเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค208978 และ ค92868 แต่จำเลยร่วมไม่ได้ต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552 และวันที่ 29 มีนาคม 2552 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 56 จำเลยร่วมจึงยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวใหม่ โจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนทั้งสองเครื่องหมาย จำเลยร่วมยื่นคำโต้แย้งคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองของจำเลยร่วมต่อไป โดยเห็นว่าเครื่องหมายทั้งสองของจำเลยร่วม แม้จะมีคำว่า "FORMULA" และเลข "1" เช่นเดียวกับสาระสำคัญในเครื่องหมายของโจทก์ และอาจเรียกขานได้ว่า "ฟอร์มูล่า วัน" เหมือนกัน แต่เครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายใช้กับสินค้าและบริการต่างจำพวกกัน รายการสินค้าและบริการไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ประกอบกับจำเลยร่วมเคยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตั้งแต่ปี 2542 ทะเบียนเลขที่ ค208978 สำหรับสินค้า แว่นตา และเครื่องหมายการค้า ตั้งแต่ปี 2532 ทะเบียนเลขที่ ค92868 สำหรับสินค้า แว่นตา โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ย่อมไม่เกิดขึ้น นอกจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมมีเจตนาไม่สุจริตลอกเลียนเครื่องหมายของโจทก์ จึงชอบที่จะรับจดทะเบียนได้ตามสำเนาคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 34/2555 และ 29/2554 โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยทั้งสองต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีมติยืนตามคำวินิจฉัยทั้งสองของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยเห็นว่าเครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองของจำเลยร่วมจึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายของโจทก์ แต่เนื่องจากเครื่องหมายทั้งสองของจำเลยร่วมใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้า แว่นตา ส่วนของโจทก์ใช้กับสินค้าและบริการต่างจำพวกกัน รายการสินค้าและบริการไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำส่งยังไม่เพียงพอที่จะแสดงได้ว่าโจทก์จำหน่าย ใช้ หรือโฆษณา จนถือเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และไม่มีหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยร่วมขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริตลอกเลียนเครื่องหมายของโจทก์ และจำเลยร่วมมีหลักฐานเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสินค้าแว่นตาภายใต้เครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมมีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาเป็นเวลาต่อเนื่องกันเป็นเวลานานพอสมควรจนทำให้สาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่น จึงนับว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะสำหรับสินค้าแว่นตาตามสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 633/2558 และ 634/2558
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 764579 และ 764580 ของจำเลยร่วมตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาเครื่องหมาย ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 764579 ของจำเลยร่วม ประกอบไปด้วยภาคส่วนอักษรโรมันคำว่า "F-1" "FORMULA-1 OPTICAL FRAME" และ "COLLECTION" เรียงกัน 3 บรรทัด และภาคส่วนรูปช่อหรีดหรือรวงข้าวประดิษฐ์ โอบล้อมคำว่า "F-1" ซึ่งคำดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่าคำอื่น ๆ ในเครื่องหมาย ภาคส่วนคำว่า "F-1" จึงถือเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย และอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า "เอฟ วัน" ส่วนเครื่องหมาย ที่จดทะเบียนแล้วของโจทก์ประกอบไปด้วยภาคส่วนอักษร "F" ประดิษฐ์ และตัวเลขประดิษฐ์ "1" และคำว่า "Formula 1" ในลักษณะเอียง และภาคส่วนลายเส้นหลังตัวเลขประดิษฐ์ "1" โดยภาคส่วนคำว่า "F1" มีขนาดอักษรใหญ่กว่าคำว่า "Formula 1" อย่างเห็นได้ชัด ภาคส่วนคำว่า "F1" จึงถือเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย และอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า "เอฟ วัน" เช่นกัน ดังนี้ เครื่องหมายทั้งสองจึงมีสาระสำคัญอยู่ที่ คำว่า "F-1" และ "F1" ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกันมาก ทั้งสาธารณชนที่พบเห็นโดยทั่วไปก็อาจเรียกขานเครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายได้ว่า "เอฟ วัน" เหมือนกัน แม้เครื่องหมายทั้งสองจะมีส่วนประกอบอื่นแต่ก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย นอกจากนี้เครื่องหมายทั้งสองต่างก็มีคำว่า "FORMULA-1" และ "Formula 1" ในขนาดที่เล็กกว่าวางตำแหน่งอยู่ในบริเวณใต้คำว่า "F-1" และ "F1" อันทำให้สาธารณชนที่พบเห็นเครื่องหมายทั้งสองดังกล่าวเข้าใจได้ว่า คำว่า "FORMULA-1" และ "Formula 1" เป็นคำเต็มของคำว่า "F-1" และ "F1" ดังนี้ เครื่องหมาย และ จึงมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน สำหรับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 764580 ของจำเลยร่วมนั้น ประกอบไปด้วยตัวอักษรโรมันและเลขอารบิกว่า "FORMULA-1" และอาจเรียกขานได้ว่า "ฟอร์มูล่า วัน" ส่วนเครื่องหมาย ที่จดทะเบียนแล้วของโจทก์ประกอบไปด้วยอักษรโรมันและเลขอารบิกว่า "FORMULA 1" ในบรรทัดบน กับตัวอักษรไทยและเลขอารบิกคำว่า "ฟอร์มูล่า 1" ในบรรทัดล่าง ตัวอักษรทั้งสองบรรทัดมีขนาดใกล้เคียงกัน คำในทั้งสองบรรทัดจึงถือเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย โดยอาจเรียกขานได้ว่า "ฟอร์มูล่า วัน" เช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมาย และ แล้ว เห็นว่า ทั้งสองเครื่องหมายต่างเป็นเครื่องหมายที่มีคำว่า "FORMULA" มีตัวสะกดเหมือนกันทุกประการ ตามด้วยเลขอารบิก "1" เหมือนกัน และต่างเป็นเครื่องหมายที่มีเฉพาะภาคส่วนคำ ทั้งสองเครื่องหมายอาจเรียกขานได้ว่า "ฟอร์มูล่าวัน" เหมือนกัน แม้เครื่องหมายของโจทก์จะมีคำภาษาไทยและเลขอารบิกคำว่า "ฟอร์มูล่า 1" ในบรรทัดล่าง แต่ก็เป็นคำทับศัพท์จากอักษรโรมันซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษในบรรทัดบน โดยอาจอ่านออกเสียงได้ว่า "ฟอร์มูล่า วัน" เช่นเดียวกัน จึงนับได้ว่าเครื่องหมาย และ มีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานคล้ายกันเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าคำว่า "FORMULA 1" ในเครื่องหมายของโจทก์ กับคำว่า "FORMULA-1" ในเครื่องหมายของจำเลยร่วมต่างกันเพราะเครื่องหมายของจำเลยร่วมมีขีดคั่นหน้าเลข "1" ประกอบอยู่ด้วยนั้น เห็นว่า แม้เครื่องหมายของจำเลยร่วมจะมีเครื่องหมาย "-" อยู่ระหว่างคำว่า "FORMULA" และเลข "1" แต่ก็เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย และไม่ทำให้เสียงเรียกขานแตกต่างไปจากคำในเครื่องหมายของโจทก์ โดยตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วม ก็ระบุคำอ่านและคำแปลเฉพาะในส่วนของอักษรโรมันและเลขอารบิกโดยไม่ได้ระบุถึงคำอ่านของเครื่องหมาย "-" หรือเครื่องหมายยัติภังค์แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยร่วมไม่คล้ายกับเครื่องหมายของโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองของจำเลยร่วมเป็นเครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของโจทก์นั้น ตามทางนำสืบโจทก์มีนายศรีลา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า บริษัทโจทก์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2517 เป็นบริษัทในเครือของเดอะ ฟอร์มูล่า วัน กรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทน้ำมันเครื่อง อะไหล่รถยนต์ ชิ้นส่วนตกแต่งรถยนต์และรถแข่ง รวมถึงอุปกรณ์ในการแข่งขันรถแข่งภายใต้เครื่องหมายคำว่า "Formula 1" และ "F1" โจทก์มีหน้าที่ในด้านส่งเสริมการขายและจัดกิจกรรมแข่งขันรถชิงแชมป์โลก "ฟอร์มูล่าวัน" ร่วมกับสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติซึ่งเป็นการแข่งขันรถระดับสูงสุดของโลก มีผู้ติดตามชมการแข่งขันทางโทรทัศน์กว่า 400,000,000 คน ต่อปี ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โจทก์ยื่นขอและได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายคำว่า "Formula 1" และ "F1" ในหลายประเทศทั่วโลก โดยโจทก์ยื่นคำขอและได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและบริการไว้หลายสิบเครื่องหมาย ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สเปน เดนมาร์ก และสิงคโปร์ ตามฐานข้อมูลการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศจากฐานข้อมูลขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก สำหรับในประเทศไทย โจทก์ยื่นคำขอเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2540 รวม 57 เครื่องหมาย โดยได้รับการจดทะเบียนแล้วจำนวน 51 เครื่องหมาย เครื่องหมายการค้าและบริการคำว่า "Formula 1" และ "F1" ของโจทก์เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ประชาชนชาวไทยมาประมาณ 70 ปี แล้ว ซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชก็ทรงเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าวด้วย ในปี 2527 ประเทศไทยก่อตั้งสนามแข่งรถพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิตพัทยา และจัดแข่งรถยนต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 และ 12 มกราคม 2529 มีสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติรับรองการแข่งขันดังกล่าว โดยมีชื่อโจทก์และเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ปรากฏในการแข่งขันดังกล่าว ในปี 2553 มีการจัดการแสดงรถ "Formula 1" โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ กรุงเทพมหานคร และราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย จัดการแข่งขันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ปรากฏตามสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อการโฆษณาหรือข่าวการจัดงานในประเทศไทย เอกสารแสดงถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์การจัดแข่งรถ "Formula 1" หรือ "F1" ในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย เอกสารแสดงการโฆษณาเครื่องหมายดังกล่าวของโจทก์ และเครื่องหมายคำว่า "Formula 1" และ "F1" ของโจทก์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายในหลายประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน โรมาเนีย ตุรกี แคนาดา อิตาลี จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวจึงทำให้เห็นได้ว่าโจทก์ได้ใช้และโฆษณาเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวอย่างแพร่หลายตามปกติโดยสุจริตทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดีและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค นับเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) แล้ว เมื่อได้ความว่าเครื่องหมาย และ ตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยร่วมมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมาย และ ของโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว เครื่องหมายการค้า และ ตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยร่วมจึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังกล่าวของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ดังนี้ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองของจำเลยร่วมตามคำฟ้องที่ให้ดำเนินการจดทะเบียนต่อไปได้นั้นจึงไม่ชอบ กรณีย่อมมีเหตุให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าว และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 764579 และ 764580 ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 633/2558 และ 634/2558 โดยให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ