โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า เมื่อปี 2520โจทก์ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 12 ตำบลคลองขุด อำเภอบ้านโพธิ์ (สนามจันทร์)จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรเขยโจทก์โดยเสน่หาก่อนฟ้องคดีประมาณ 1 ปี จำเลยที่ 1 ได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์หลายประการ กล่าวคือจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้ และจำเลยที่ 1 สามารถจะให้ได้ จำเลยทั้งแปดร่วมกันประทุษร้ายร่างกายโจทก์จนได้รับบาดเจ็บหลายครั้ง และร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงหลายครั้ง โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 กลับโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่สุจริต โดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบซึ่งโจทก์อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินได้อยู่ก่อน ขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยทั้งแปดคืนแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงแทนเจตนาของจำเลยทั้งแปด กับให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันเสียค่าธรรมเนียมในการโอนและเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วย
จำเลยทั้งแปดให้การและแก้ไขคำให้การว่า การให้ที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นการให้ที่มีภารติดพัน โดยโจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ต้องกู้เงินจากนายแสวง ตันสุวรรณรัตน์มาไถ่ถอน หลังจากนั้นโจทก์จึงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 จึงได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแก่นายแสวง โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนคืนการให้ จำเลยที่ 1 ไม่เคยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ จำเลยทั้งแปดไม่เคยร่วมกันทำร้ายโจทก์ ไม่เคยหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขยของโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โจทก์เคยนำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองไว้แก่ นางแฉล้ม จารุสมบัติ ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2520 โจทก์ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.1 (ล.5)ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่นายแสวงตันสุวรรณรัตน์ ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ล.6ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีค่าตอบแทนหรือค่าภารติดพันหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าโจทก์มีที่ดินพิพาทเพียงแปลงเดียวและได้ยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 1โดยเสน่หา ต้องการให้จำเลยที่ 1 รับเลี้ยงดูจนกว่าจะถึงแก่กรรม เมื่อปี2509 โจทก์ยืมเงินจากนางแฉล้ม จารุสมบัติ 40,000 บาท ไปใช้หนี้ให้แก่นายวิรัตน์และนำไปลงทุนเลี้ยงสุกร จึงได้จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่นางแฉล้ม ในวันที่จะไถ่ถอนที่ดินจากนางแฉล้มนั้นยังค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย 65,000 บาท โจทก์ได้ยืมเงินจากนางทองดำ 2,000 บาทนางสำลี 1,000 บาท นายบุญมาก 1,000 บาท ขายสุกรได้เงิน 20,000บาท และขายโคได้เงินอีก 40,000 บาท นำมาชำระหนี้แก่นางแฉล้มส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับนางอำไพภริยาและบุตรมาอยู่ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โจทก์เคยไปหาจำเลยที่ 1 ที่อำเภอสัตหีบ บอกว่าที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่นางแฉล้ม ยังไม่ได้ส่งต้นเงินและดอกเบี้ย ขอให้จำเลยที่ 1 หาเงินมาไถ่ถอน จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ปรึกษากับบุตรของโจทก์ก่อน ปรากฏว่าไม่มีบุตรของโจทก์คนใดมีเงินพอที่จะไถ่ถอนจำนองเพราะเป็นเงินถึง 65,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงไปขอกู้เงินจำนวนนี้จากนายแสวง ตันสุวรรณรัตน์ ในวันไถ่ถอนจำนองมีจำเลยที่ 1 โจทก์ นายแสวงและนางแฉล้มผู้รับจำนอง โจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทให้ไว้แก่นายแสวงโดยจำเลยทั้งแปดมีนายแสวง ตันสุวรรณรัตน์ เป็นพยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยที่ 1 มาติดต่อขอกู้เงิน 65,000 บาท เพื่อจะไปชำระหนี้แทนพ่อตาซึ่งกู้เงินมาจากนางแฉล้ม เนื่องจากนางแฉล้มจะฟ้องร้อง พยานจึงตกลงให้จำเลยที่ 1 กู้และนัดไปจดทะเบียนที่หอทะเบียนที่ดิน วันดังกล่าวมีจำเลยที่ 1 โจทก์นางแฉล้มและพยานไปจดทะเบียนไถ่ถอนที่ดิน และโจทก์ได้จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินค้ำประกันเงินกู้แก่พยาน เห็นว่า โจทก์มีบุตรถึง 8 คน จำเลยที่ 1 เป็นเพียงบุตรเขต เมื่อจำเลยที่ 1 แต่งงานกับบุตรสาวของโจทก์แล้วก็ไปรับจ้างทำงานเป็นยามอยู่ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แม้จำเลยที่ 1 จะไปมาหาสู่โจทก์เป็นประจำก็ตาม แต่โจทก์ก็มีที่ดินพิพาทเพียงแปลงเดียว และก่อนที่จะยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หานั้น โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านตอนนี้ว่า ไม่ได้บอกหรือปรึกษาหารือกับบุตรทั้งแปดและไม่บอกกับภริยา การที่โจทก์ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาแต่ลำพังผู้เดียว โดยไม่ยกหรือแบ่งปันให้กับบุตรคนอื่นบ้างหรือปรึกษาหารือกับบุตรคนใดคนหนึ่งเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เคยอุปการะเลี้ยงดูหรือแสดงความกตัญญูเหนือกว่าบุตรของโจทก์แต่อย่างใด ฉะนั้น ที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่นางแฉล้มอยู่เป็นจำนวนถึง 65,000 บาท ถึงกับต้องไปกู้เงินผู้อื่นทั้งขายสุกร ขาย โค เพื่อนำเงินมาไถ่ถอนจำนองที่ดินแล้วยกให้แก่จำเลยที่ 1 เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มภาระแก่โจทก์ขึ้นอีก จึงเป็นเหตุผลที่รับฟังไม่ขึ้น พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีนายแสวงเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 มากู้เงินนายแสวงเพื่อนำไปชำระหนี้แก่นางแฉล้มแทนโจทก์โดยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ในวันเดียวกันโจทก์จึงจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น มีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้ จึงเป็นการให้โดยมีค่าภารติดพัน ส่วนที่การจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.1 (ล.5) ระบุว่า เป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนระหว่างพ่อตาให้บุตรเขยนั้น จำเลยที่ 1 นำสืบว่า เป็นการยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โดยจำเลยที่ 1 ต้องไปกู้เงินจากนายแสวงมาไถ่ถอนจำนองที่ดินจากนางแฉล้ม จึงหาใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่เพราะเป็นการนำสืบให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.1 (ล.5) นั้น เป็นการให้ในสิ่งที่มีค่าภารติดพัน จำเลยที่ 1จึงมีสิทธินำสืบได้ เมื่อวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวข้างต้นมาแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณ เพราะต้องห้ามถอนคืนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 535(2) คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาว่าจำเลยที่ 1ประพฤติเนรคุณหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน