โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 295, 297
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นาย จ. ผู้เสียหายที่ 1 และนาย ว. ผู้เสียหายที่ 2 โดยนางสาว ร. ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 87,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 และค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 754,165 บาท แก่ผู้ร้องที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกมานั้นสูงเกินส่วน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (ที่ถูก 297 (8)) ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งสองอายุ 16 ปี และ 17 ปีเศษ ตามลำดับ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนด 3 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสองไว้ภายในเวลาดังกล่าว โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ จำเลยทั้งสองดังนี้
1 ให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง ทุกครั้งที่ไปรายงานตัวให้ตรวจปัสสาวะจำเลยทั้งสอง หากพบสารเสพติดให้รายงานศาล
2 ให้จำเลยทั้งสองประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ
3 ห้ามจำเลยทั้งสองคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหรือในสถานเริงรมย์ทุกแห่ง และห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด
4 ให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง
หากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครมีกำหนด 10 วัน ทั้งนี้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 จำนวน 4,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 1 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 262,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 2 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ผู้ร้องทั้งสองขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายนาย จ. ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย และนาย ว. ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร ขึ้นมาวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเยาวชนของสถานพินิจจะมีความสำคัญแก่การพิพากษาคดี เนื่องจากพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 131 บัญญัติไว้มีใจความว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ต่อเมื่อได้รับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อใช้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งปวงเกี่ยวกับจำเลย บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย หรือบุคคลซึ่งให้การศึกษา ให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้องตามมาตรา 115 เข้าสู่สำนวนคดี โดยมาตรา 118 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย ศาลจะรับฟังรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามมาตรา 115 ที่มิใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ถูกฟ้องโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบรายงานนั้นก็ได้ เพื่อเสนอรายงานและความเห็นต่อศาลเกี่ยวกับการลงโทษ หรือการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลยเท่านั้น หากศาลจะฟังข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ถูกฟ้อง ศาลจะรับฟังรายงานดังกล่าวโดยไม่มีพยานบุคคลประกอบไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงตามรายงานมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสืบพยานของคู่ความ จึงไม่สามารถนำมารับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยได้ การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร แล้วเชื่อว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ข้อ 1.1 จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ถูกบริเวณศีรษะ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดอันตรายแก่กาย กับข้อ 1.2 จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธมีดที่ได้ใช้กระทำความผิดในข้อ 1.1 ฟันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 หลายครั้ง ถูกบริเวณศีรษะและอวัยวะอื่นอีกหลายแห่ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยทั้งสองต่อผู้เสียหายแต่ละคน โดยผลของการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนก็แตกต่างกันไปอันมีเจตนาต่างกันในแต่ละครั้ง อีกทั้งโจทก์ยังมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย คงจำคุกคนละ 3 เดือน และคงปรับคนละ 5,000 บาท ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และคงปรับคนละ 10,000 บาท รวมจำคุกคนละ 1 ปี 9 เดือน และปรับคนละ 15,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครมีกำหนด 15 วัน ส่วนการรอการลงโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ