โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน ก.ท.ท.๘๐๖๗ จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารประจำทางสาย ๙ หมายเลข ๙๗ หมายเลขทะเบียน ก.ท.จ.๑๓๕๔ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๔ เวลา ๕.๔๕ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถโดยสารคันดังกล่าวไปตามถนนจักรพงษ์ จากสี่แยกบางลำภู มุ่งหน้าไปทางสนามหลวง เพื่อรับส่งคนโดยสารอันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังโดยขับแซงรถยนต์แท็กซี่ของโจทก์ด้วยความเร็ว ไม่ดูความปลอดภัยให้ดีเสียก่อน เป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ ๑ขับเกี่ยวชนท้ายรถของโจทก์โดยแรง ได้รับความเสียหาย ต้องจ่ายค่าซ่อมไป ๑๒,๗๕๐ บาท และโจทก์ต้องเสียหายที่มิได้ให้เช่ารถคันดังกล่าวนับแต่วันรถถูกชน จนถึงวันซ่อมเสร็จเป็นเงิน ๖,๒๐๐ บาท รถถูกชนต้องเสื่อมราคาคิดเป็นเงิน ๑,๕๕๐ บาท ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๒๐,๕๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ในหน้าที่พนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง แต่ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวหา จำเลยที่ ๑ ป่วยอยู่ที่ต่างจังหวัด ไม่ได้ขับรถตามที่โจทก์ฟ้อง ผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครเหนือได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ต่อศาล ศาลแขวงพระนครเหนือได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑เป็นลูกจ้างในหน้าที่พนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลยที่ ๒ แต่ตามวันเวลาที่เกิดเหตุรถคันที่จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานขับ ไม่ได้ออกรับส่งคนโดยสารตามปกติ หากจอดซ่อมอยู่ในอู่ที่เก็บรถของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาในฟ้อง สูงเกินความเป็นจริง หากจะซ่อมก็ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท และค่าเช่าไม่เกินวันละ ๔๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหาย ๑๘,๒๐๐ บาทแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ ๕๐๐ บาทแทนโจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๑ ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ฟังว่า ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ขับรถของจำเลยที่ ๒ ในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถของโจทก์เสียหาย ในปัญหาว่า เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ดังนั้น ผู้ได้รับความเสียหายจึงอาจจะฟ้องนายจ้างหรือลูกจ้างคนใดก็ได้ เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ไว้ครบถ้วนแล้ว และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถของจำเลยที่ ๒ ในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถของโจทก์ เป็นเหตุให้รถของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด แม้ในทางพิจารณาจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับรถของจำเลยที่ ๒ ก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ ๒ พ้นความรับผิดได้ พิพากษายืน