คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 65 วรรคสอง, 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำคุก 20 ปี ฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายและฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่าย คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจลงโทษฐานจำหน่ายเฮโรอีนได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) คงให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว คดีถึงที่สุดแล้ว
จำเลยยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษจำเลยใหม่และลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สำหรับความผิดฐานผลิตเฮโรอีน ข้อเท็จจริงได้ความว่า เฮโรอีนที่ยึดได้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 91.865 กรัม ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสามและวรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ ส่วนโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีอัตราโทษประหารชีวิตเท่ากับกฎหมายเดิม กรณีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ให้จำเลยได้ สำหรับข้อหาจำหน่ายเฮโรอีน ไม่ว่าโจทก์จะบรรยายปริมาณสารบริสุทธิ์ของเฮโรอีน 1 หลอด ที่จำเลยจำหน่ายไปหรือไม่ ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงโทษที่ศาลจะลงแก่จำเลยเพราะเมื่อรวมโทษทุกกรรมแล้ว คงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ส่วนมาตรา 100/2 เป็นบทกฎหมายที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยในสถานเบา มิใช่บทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำหนดโทษจำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) สำหรับข้อหาผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนข้อหาจำหน่ายเฮโรอีน ให้จำคุก 4 ปี ลดโทษให้ข้อหาละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว ข้อหาแรกคงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ข้อหาที่ 2 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 35 ปี 12 เดือน ให้ศาลชั้นต้นแจ้งผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้โจทก์และจำเลยทราบกับออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยใหม่ตามคำพิพากษานี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยใหม่โดยอ้างว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ซึ่งใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) เห็นว่า สำหรับความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายนั้น ในระหว่างที่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุดอยู่แล้วนั้น ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยตามมาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) กำหนดไว้ว่า ผู้ใดผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต ส่วนในมาตรา 65 ที่แก้ไขใหม่ กำหนดแยกบทลงโทษกรณีผลิตโดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม (3) คือไม่ถึง 3 กรัม หากเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท เช่นนี้ ความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ จะเป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิมตามมาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด เฉพาะในกรณีที่เป็นการผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายโดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3) (ที่แก้ไขใหม่) คือไม่ถึง 3 กรัม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุใส่หลอดพลาสติก 150 หลอด น้ำหนัก 142.007 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 91.865 กรัม แม้ฟ้องโจทก์จะไม่ได้บรรยายว่า เฮโรอีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า จำเลยผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งจากห่อแล้วบรรจุใส่หลอดพลาสติก 150 หลอด น้ำหนัก 142.007 กรัม อันเป็นการบรรยายฟ้องมาครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแล้ว เมื่อเฮโรอีนของกลางอันเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 91.865 กรัม เกินกว่าที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม (3) จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ส่วนกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) และมาตรา 65 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวเท่ากัน กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายใหม่ได้ และหลังจากลดโทษแล้ว คงลงโทษจำเลยฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายให้จำคุกตลอดชีวิต การกำหนดโทษในข้อหาจำหน่ายเฮโรอีนใหม่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงโทษที่จะลงแก่จำเลย จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากำหนดโทษให้จำเลยใหม่มานั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ คงฎีกาเฉพาะขอให้เพิ่มโทษปรับตามมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่เท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์
พิพากษายืน