คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ เจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ที่บ้านเลขที่ 436 ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต จำเลยไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพื่อพิจารณาและนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 พร้อมกับหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้โจทก์และจำเลยทราบ เจ้าพนักงานศาลส่งหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 เมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยเพื่อมาฟังคำพิพากษาและเลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ครั้นถึงวันนัดเจ้าพนักงานตำรวจยังจับกุมจำเลยไม่ได้และพ้นกำหนดหนึ่งเดือน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลับหลังจำเลยและถือว่าจำเลยทราบผลแห่งคำพิพากษานั้นแล้ว คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องและลงโทษจำคุกจำเลย 18 ปี ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ และศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในชั้นส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์รวมถึงการส่งหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้แก่จำเลย เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 บัญญัติว่า "ถ้าบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่หลายแห่งซึ่งอยู่สับเปลี่ยนกันไปหรือมีหลักแหล่งที่ทำการงานเป็นปกติหลายแห่ง ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น" ปรากฏข้อเท็จจริงจากสำนวนคดีนี้ว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยโดยระบุว่าจำเลยตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ 436 ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต (บ้านที่เจ้าพนักงานศาลปิดหมายไว้) และตามข้อมูลทะเบียนราษฎรก็ระบุว่าจำเลยมีที่อยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าว ประกอบกับในชั้นพิจารณาเมื่อจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานต่อศาลก็ได้ระบุที่อยู่ดังกล่าวว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยเช่นเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยแจ้งย้ายที่อยู่ใหม่แต่อย่างใด อีกทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาระบุที่อยู่ว่าจำเลยตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ดังกล่าวเช่นเดียวกันด้วย กรณีถือว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่ของจำเลย แม้จำเลยจะอ้างว่า จำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 29/31 หมู่ที่ 4 ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ก็ตาม หากเป็นความจริงก็ต้องถือว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่ง ดังนั้น บ้านเลขที่ 436 ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ย่อมเป็นภูมิลำเนาของจำเลยด้วยแห่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์รวมถึงหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 436 ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต จึงเป็นการส่งหมายนัดตามภูมิลำเนาของจำเลยโดยชอบแล้ว มิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานศาลมิได้ปิดหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์รวมถึงหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้แก่จำเลยไว้ในที่แลเห็นได้ง่ายจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในคำร้อง จึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน