โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 145, 310, 340, 340 ตรี, 364, 365, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 13,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2838/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสามขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นาย ณ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันบุกรุกในเคหสถานโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธและโดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ส่วนข้อหาอื่นโจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสามไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 145 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 18 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 19 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธในเวลากลางคืนกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 12 ปี 12 เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 13,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีสว่นแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 อีกกรรมหนึ่ง แต่ไม่ต้องกำหนดโทษ ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364 (ที่ถูก มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 83) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 2 ปี 16 เดือน เมื่อรวมกับความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกคนละ 2 ปี 28 เดือน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสามไปที่ร้านที่เกิดเหตุโดยมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย แล้วลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยจำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 จับกุมโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 จับแขนโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 3 ใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามควบคุมตัวโจทก์ร่วมไปตรวจค้นยาเสพติดและอาวุธปืนแต่ไม่พบต่อมานางสาวสุธินี คนรักโจทก์ร่วมและนายวราณ์ น้องนางสาวสุธินีไปที่ร้านที่เกิดเหตุ พบว่าประตูเหล็กหน้าร้านปิด จึงโทรศัพท์หาโจทก์ร่วมทราบว่าโจทก์ร่วมถูกจับกุมอยู่ด้านใน โจทก์ร่วมบอกให้นางสาวสุธินีโทรศัพท์บอกนายมนัส บิดาโจทก์ร่วม นางสาวสุธินีโทรศัพท์บอกนายมนัส ครู่หนึ่งจำเลยที่ 3 เปิดประตูเหล็กหน้าร้านและดึงนางสาวสุธินีและนายวราณ์เข้าไปข้างในและปิดประตู ต่อมานายมนัสไปถึงร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 3 เปิดประตูให้เข้าไปข้างใน ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 เดินสวนออกไปโดยนำเอาฮาร์ดดิสก์ที่บันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดของโจทก์ร่วมไปด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 เดินตามไปสมทบก่อนจะหลบหนีไป สำหรับคดีส่วนแพ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง โจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 1 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญากำหนดบทนิยามคำว่า "โดยทุจริต" หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำโดยทุจริตจึงมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์เท่านั้น ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมมีหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของตนหรือเป็นการเอาไปเพื่อทำลายหลักฐาน จึงเป็นการเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัด กรรมสิทธิ์ และถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นการลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตแล้ว การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลัง จะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้นหรือให้พ้นจากการจับกุม อันจะเป็นความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือไม่นั้น ในข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสามไปที่ร้านที่เกิดเหตุโดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขอตรวจค้นและใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลัง ระหว่างตรวจค้นจำเลยที่ 1 พบทองคำน้ำหนักประมาณ 20 บาท อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน เมื่อโจทก์ร่วมห้ามมิให้จำเลยที่ 1 เปิดลิ้นชัก จำเลยที่ 1 ปิดลิ้นชักและมอบกุญแจลิ้นชักคืนให้แก่โจทก์ร่วม ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ยืนบีบแขนโจทก์ร่วมอยู่ ส่วนจำเลยที่ 3 ยืนอยู่หน้าประตูและต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่านางสาวสุธินีใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อัดคลิปวิดีโอ จำเลยที่ 1 นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางสาวสุธินีไปลบคลิปออกและนำใส่กระเป๋ากางเกง เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยที่ 1 คืน จำเลยที่ 1 ก็คืนให้โจทก์ร่วมแสดงว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้มีเจตนาที่จะลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมมาแต่แรก และการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลังก็มิได้กระทำเพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 339 (1) ถึง (5) ในการที่จะเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไป แต่เป็นการทำเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมขัดขืนหรือหลบหนี ดังนั้น การลักเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปจึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง การใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม อันจะเป็นความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน แต่เป็นเพียงความผิดข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและโดยมีหรือใช้อาวุธปืนและความผิดข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจแยกต่างหากจากกัน โดยความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนตามฟ้องและแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามความผิดที่พิจารณาได้ความนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 225 นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสามยังเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษหลายกรรมและไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกขึ้นฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนและเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยทั้งสามเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องแก่พฤติการณ์แห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ด้วยการขอตรวจค้นและจะบังคับจับกุมโจทก์ร่วมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ แล้วลักฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปเป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่โจทก์ร่วมและก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคมเป็นอย่างมากตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตร 358 ประกอบมาตรา 83 แต่จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (1) (6) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 391, 83 อีกสองกระทง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและโดยมีหรือใช้อาวุธปืน จำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุกคนละ 1 เดือน ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี 12 เดือน 20 วัน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เป็นจำคุกคนละ 4 ปี 24 เดือน 20 วัน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 13,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์