โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้จัดตั้งกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 กองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ธนทวี กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินเพิ่มทรัพย์ปันผล กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินเพิ่มพูนทรัพย์ปันผล และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินทวีทรัพย์ปันผลเป็นกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนกองทุนรวมดังกล่าว จำเลยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้เสนอขายหุ้นกู้ของจำเลยประเภทไม่มีหลักประกัน โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามกองทุนที่โจทก์จัดตั้งขึ้นรวมมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นกู้ทั้งหมด 125,920,000 บาท ต่อมาจำเลยได้รับคำสั่งจากกระทรวงการคลังให้ระงับการดำเนินกิจการและให้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่กระทรวงการคลังพิจารณาจำเลยได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลย จำเลยจึงอยู่ในฐานะต้องปิดกิจการเป็นการถาวรมีหน้าที่ต้องทำการไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งหมดคืนจากโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 131,159,479.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 125,920,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 125,920,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2540 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 16 มกราคม 2541) มิให้เกิน5,239,479.46 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 125,920,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนรวมและได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ให้จัดตั้งกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 กองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ธนทวี กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินเพิ่มทรัพย์ปันผล กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินพูนทรัพย์ปันผล และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินทวีทรัพย์ปันผล จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ เมื่อเดือนธันวาคม 2536 จำเลยได้ออกหุ้นกู้ชื่อหุ้นกู้ จี เอฟ ชาร์ป วันจำนวน 1,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท รวมมูลค่าหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นเงิน 1,000,000,000 บาท ในการออกหุ้นกู้ดังกล่าวต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. จำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหุ้นกู้ออกหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิของจำเลยในนามกองทุนต่าง ๆ ทั้ง 6 กองทุนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 125,920,000 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้จำเลยระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวให้จำเลยส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อพิจารณาว่าจะให้จำเลยดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540 จำเลยได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ในรายงานการประชุมแสดงงานของจำเลยว่า จำเลยไม่สามารถชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ได้ และต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 คณะกรรมการ ปรส. ไม่ให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลย จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชี ซึ่งตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการ ปรส. รายงานรัฐมนตรีทราบ และให้คณะกรรมการ ปรส. มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคนมีอำนาจเข้าดำเนินการแทนบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการได้ทุกประการและทำการชำระบัญชีบริษัท
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ หรือกองทุนรวมซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากไปจากโจทก์จะต้องเป็นผู้ฟ้องคดีเอง เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมในโครงการใดแล้วโจทก์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการจัดการกองทุนรวมตามที่บัญญัติไว้ในเรื่องจัดการกองทุนรวมตั้งแต่มาตรา 117 ถึงมาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เช่น ตามมาตรา 122 ก่อนโจทก์จะเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชน โจทก์จะต้องจัดให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 121 แต่ผู้ดูแลผลประโยชน์ดังกล่าวมีหน้าที่เพียงเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งเป็นประชาชนเท่านั้น มิได้มีอำนาจในการจัดการกองทุนแต่ประการใดดังที่มาตรา 127(1) และ (5) ได้บัญญัติให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ดูแลให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติตามมาตรา 125 โดยเคร่งครัด และดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน หรือฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวง หรือเมื่อได้รับคำสั่งจากสำนักงาน ก.ล.ต. มาตรา 124 วรรคสอง บัญญัติให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุนตามโครงการจัดการกองทุนรวมตามที่ได้รับอนุมัติ โดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวม ทั้งมาตรา 125(1) และ (6) ยังได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าในการจัดการกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการจัดการให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติ ตลอดจนข้อผูกพันที่ทำไว้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างเคร่งครัดกับจัดให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการนำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุนและนำผลประโยชน์ดังกล่าวฝากไว้กับผู้ดูแลผลประโยชน์ ส่วนที่มาตรา 124 บัญญัติให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้กองทุนรวมนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินในนามของตนเองได้และเป็นการแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมออกจากทรัพย์สินของบริษัทหลักทรัพย์โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน เพื่อรักษาคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนที่ร่วมลงทุนในกองทุนรวม มาตรา 124 วรรคสอง ส่วนสุดท้ายก็บัญญัติสอดคล้องกับมาตรา 125 ดังกล่าวข้างต้นว่า ให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์จะมีสิทธิฟ้องจำเลยต่อเมื่อเจ้าหนี้สามัญได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะหุ้นกู้ของโจทก์เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ การบังคับชำระหนี้ต้องเป็นไปตามหนังสือชี้ชวน บริษัทจำเลยยังอยู่ในระหว่างชำระบัญชี ยังไม่มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สามัญ ข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เกิด และมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 และพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เห็นว่า การบังคับให้เป็นไปตามสิทธิเรียกร้องกับการจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นหรือไม่เพียงใด เป็นคนละเรื่องคนละตอน เช่นสิทธิฟ้องร้องของเจ้าหนี้อาจจะเกิดขึ้นแล้ว แต่การจะบังคับเอากับทรัพย์สินใดหากทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบุริมสิทธิที่เจ้าหนี้อื่นจะได้รับชำระหนี้ก่อน เจ้าหนี้สามัญก็ย่อมจะได้รับชำระหนี้ในภายหลังเป็นขั้นตอนในชั้นบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า บริษัทจำเลยถูกกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชีตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่งโจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนเอกสารหมาย จ.14ข้อ 2.3.2 (ก) และ (ข) ทั้งตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540มาตรา 26 บัญญัติแต่เพียงห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปรส. เท่านั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ตามสิทธิของโจทก์ จำเลยได้รับหนังสือแล้วกลับเพิกเฉย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 30 ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้นั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดำเนินการและชำระบัญชีที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่งตั้งตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โดยขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การปรส. เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อกรณีของโจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่กรณียื่นคำขอรับชำระหนี้ที่จะขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว แต่เป็นกรณีเจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปได้ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน