โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี 8 เดือน และปรับกระทงละ 53,333.33 บาท ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 66,666.66 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน และปรับกระทงละ 26,666.66 บาท รวม 2 กระทง ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน และปรับ 33,333.33 บาท รวมจำคุก 3 ปี 16 เดือน และปรับ 86,666.65 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรของผู้เสียหายที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2547 ขณะเกิดเหตุอายุ 14 ปีเศษ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ขณะผู้เสียหายที่ 1 อยู่ที่บ้านของนางสาว อ. เพื่อนของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยมารับผู้เสียหายที่ 1 และพาไปบ้านของจำเลย แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ต่อมาเวลาประมาณ 24 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ให้นาย น. มารับที่บ้านของจำเลยแล้วพากันไปที่บ้านของนาย น. จนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยโทรศัพท์มาชักชวนให้ผู้เสียหายที่ 1 กลับมาหาจำเลย ผู้เสียหายที่ 1 ให้นาย น. มาส่งที่บ้านของจำเลย แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จนเวลาประมาณ 13 นาฬิกา จึงพาผู้เสียหายที่ 1 มาส่งที่บ้านของนางสาว ส. เพื่อนของผู้เสียหายที่ 1 อีกคนหนึ่ง สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารที่จำเลยกระทำความผิด เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารอีกกระทงหนึ่งตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตั้งแต่จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านของจำเลยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 นั้น แม้เวลาประมาณ 24 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ได้ไปค้างคืนที่บ้านของนาย น. แต่ก็กลับมาที่บ้านของจำเลยอีกในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อการอนาจารเช่นเดิมจนเวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยจึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งที่บ้านของนางสาว ส. โดยตั้งแต่จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 มาจนพากลับไปส่งดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่ได้กลับบ้านไปหาผู้เสียหายที่ 2 เลย การกระทำของจำเลยที่ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 กลับมาที่บ้านของจำเลยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 จึงไม่เป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากการดูแลของผู้เสียหายที่ 2 อีกเป็นครั้งที่สอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารอีกกระทงหนึ่งตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน