โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 2,492,470 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ท. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดรายได้เดือนละ 150,000 บาท นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นเวลาฟ้อง รวม 7 เดือน เป็นเงิน 1,050,000 บาท
จำเลยทั้งสามให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาแทนนั้น เนื่องจากโจทก์ร่วมได้รับทรัพย์คืนไปแล้ว ยกเว้นทรัพย์รายการที่ 19 ท้ายฟ้องที่ยังไม่ได้คืน จำเลยทั้งสามต้องรับผิดคืนสะพานไม้รอบบ่อหรือหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 1,200,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม 175,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์คดีส่วนแพ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ร่วมรับวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ของสะพานไม้รอบบ่อคืนจากจำเลยทั้งสาม โดยจำเลยทั้งสามไม่ต้องร่วมกันรับผิดใช้ราคาแทน 1,200,000 บาท แก่โจทก์ร่วม และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 105,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมฎีกาคดีส่วนแพ่ง โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับคดีส่วนอาญาของจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง คดีถึงที่สุด คงมีเฉพาะคดีส่วนแพ่งที่ขึ้นไปสู่การพิจารณาในชั้นฎีกา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาและที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2559 โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมอาคาร 1 หลัง กับจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มมีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2559 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ตกลงจ่ายค่าเช่าเป็นรายปี ต่อมาระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2561 โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาเช่าที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว แต่มีทรัพย์สินของโจทก์ร่วมอยู่ในสถานที่เช่า 19 รายการ คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้น 2,492,470 บาท โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์สิน 19 รายการ ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยทั้งสาม แต่ภายหลังจำเลยทั้งสามถูกฟ้องเป็นคดีนี้ โจทก์ร่วมได้รับทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 18 คืนแล้ว คงเหลือทรัพย์สินรายการที่ 19 ซึ่งเป็นสะพานไม้รอบบ่อ ราคา 1,200,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามแถลงต่อศาลชั้นต้น ประสงค์ที่จะคืนให้แก่โจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมยังไม่ขอรับคืน ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2562
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ร่วมได้รับอนุญาตให้ฎีกาคดีส่วนแพ่งว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิไม่รับสะพานไม้รอบบ่อ โดยจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันใช้ราคาแทนหรือไม่ และจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า "อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้เกิดขึ้นนั้นด้วย" การเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่ตนครอบครองเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกและเป็นละเมิดในทางแพ่งนั้น การใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องกระทำโดยการคืนทรัพย์สินที่ยักยอกแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นลำดับแรก กรณีผู้ทำละเมิดไม่อาจคืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายจึงจะมีสิทธิเรียกให้ผู้ทำละเมิดใช้ราคาทรัพย์สินแทนเป็นลำดับถัดมา คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายรวม 19 ลำดับ แก่โจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 แสดงว่าขณะฟ้องทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งหมดรวมทั้งสะพานไม้รอบบ่อตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย/ไม่ได้คืน ลำดับที่ 19 ยังอยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามสามารถคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ ทั้งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นของโจทก์ร่วมเริ่มตั้งแต่ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เข้าร่วมไกล่เกลี่ยตกลงให้โจทก์ร่วมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารที่เช่าตลอดจนอ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน โจทก์ร่วมก็มิได้โต้แย้งหรือเบิกความคัดค้านว่าสะพานไม้รอบบ่อสูญหาย หรือบุบสลายหรือถูกทำลายจนไม่อยู่ในสภาพที่จำเลยทั้งสามจะคืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ โจทก์ร่วมเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ดูแลรักษาสะพานไม้รอบบ่อขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามจนสะพานไม้รอบบ่อได้รับความเสียหาย ไม่อยู่ในสภาพเดิม โจทก์ร่วมจึงไม่ขอรับสะพานไม้รอบบ่อคืนจากจำเลยทั้งสามโดยขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาแทนโจทก์ร่วมสถานเดียว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับประเด็นที่สองที่ว่าจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพียงใดนั้น โจทก์ร่วมฎีกาว่าโจทก์ร่วมมีรายได้ขั้นต่ำจากการประกอบกิจการร้านอาหารปีละ 1,800,000 บาท การที่จำเลยทั้งสามไม่ให้โจทก์ร่วมเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารที่เช่าทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้เดือนละ 150,000 บาท เป็นเวลา 7 เดือน เป็นเงิน 1,050,000 บาท จำเลยทั้งสามต้องรับผิดเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2561 เป็นต้นมานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" และวรรคสาม บัญญัติว่า "คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ ..." จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ให้โดยการยื่นคำร้องเข้าไปในคดีอาญาในฐานความผิดที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ก็แต่เฉพาะค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานยักยอก โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริตตลอดจนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง ที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องและฎีกาขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องขาดรายได้จากการขายอาหารเพราะโจทก์ร่วมต้องหยุดประกอบกิจการร้านอาหารในที่ดินและอาคารที่เช่านั้น เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมไม่ได้เข้าประกอบกิจการร้านอาหารในที่ดินและอาคารที่เช่าของจำเลยที่ 1 เป็นผลมาจากโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาเช่าที่ดินและอาคารต่อกันแล้วก่อนเกิดเหตุกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนี้ การที่โจทก์ร่วมขาดรายได้จากการขายอาหารจึงมิได้สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้องจึงไม่อาจนำค่าขาดรายได้จากการประกอบกิจการร้านขายอาหารมาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามชดใช้แก่โจทก์ร่วมได้ อย่างไรก็ตาม ตามคำขอของโจทก์ร่วมดังกล่าวพออนุโลมได้ว่าเป็นการเรียกค่าสินไหมดแทนที่จำเลยทั้งสามเบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปใช้เป็นประโยชน์ของจำเลยทั้งสามในลักษณะเป็นค่าใช้ทรัพย์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงินเดือนละ 15,000 บาท เป็นเวลา 7 เดือน เป็นเงิน 105,000 บาท นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับราคาทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งมีราคารวม 2,492,470 บาท และจำเลยทั้งสามได้ใช้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมเป็นเวลา 7 เดือน นับว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าสินไหมทดแทน นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมนั้น เมื่อตามคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์ร่วมมิได้มีคำขอให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วมได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ