โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2), 77/1, 83, 90/4 (6) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2), (ที่ถูกต้องระบุด้วยว่า เดิม) 83, 90/4 (6) (ที่ถูกต้องระบุด้วยว่า เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (ที่ถูกต้องระบุด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองในแต่ละกระทงความผิดเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นทำนองเดียวกันตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) (เดิม) รวม 5 กระทง) ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 200,000 บาท รวม 5 กระทง เป็นปรับ 1,000,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินชำระค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดที่กระทำเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี รวมห้ากระทง คงจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในการจดทะเบียนดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้าจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ค่าหินคลุก ค่าซ่อมแซมถนน และอื่น ๆ หลายครั้ง โดยสั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงิน จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีมีนาคม เมษายนและพฤษภาคม 2550 ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีกรกฎาคมและสิงหาคม 2550 สำหรับจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกันตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสาครก็ตาม แต่ในการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนไปจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตนเอง โจทก์มีเพียงนางสาวปารณีย์ เป็นพยานเบิกความไปตามพยานเอกสารว่า จำเลยที่ 1 นำคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน มาจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ. พ. 01) จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ประกอบการด้วยตนเอง ไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาทำการแทน แต่นางสาวปารณีย์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า พยานเป็นผู้ตรวจสอบภาษีระดับชำนาญการ ไม่มีหน้าที่รับจดทะเบียนผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม พยานไม่ทราบว่าลายมือชื่อในช่องผู้ประกอบการเป็นลายมือชื่อแท้จริงของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยเดินทางไปจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เคยทราบที่ตั้งสถานประกอบการของจำเลยที่ 1 และไม่ทราบเรื่องการย้ายสถานประกอบการ จำเลยที่ 2 ทำงานรับจ้างขับรถส่งปลาให้แก่นายพีระ เมื่อปี 2549 จำเลยที่ 2 เคยไปที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสาครตามคำสั่งของนางสาวนันทกานต์ ซึ่งเป็นภริยาของนายพีระ นางสาวนันทกานต์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับที่ข้างนอกและข้างในสำนักงาน จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารอะไรและไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามเอกสารที่ลงลายมือชื่อ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 เคยไปรับเช็คจากนายชัยวัฒน์ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้า 2 ถึง 3 ครั้ง ตามคำสั่งของนางสาวนันทกานต์ เมื่อตรวจพิจารณาลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ตามแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ตามคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน และรายการจดทะเบียนแล้วเห็นได้ว่าไม่คล้ายคลึงกัน อันจะเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เดินทางไปจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ด้วยตนเอง คำเบิกความของนางสาวปารณีย์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจากนางสาวนันทกานต์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่า มีหมายเลขโทรศัพท์ของนางสาวนันท์กานต์ปรากฏอยู่ในคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่แจ้งย้ายที่ตั้งสถานประกอบการจากเลขที่ 49 หมู่ที่ 6 ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ไปอยู่เลขที่ 105/1 หมู่ที่ 1 ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และยังได้ความจากนางสาวจุฑามาศ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้าในขณะเกิดเหตุ เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ที่ตั้งสถานประกอบการของจำเลยที่ 1 เลขที่ 49 หมู่ที่ 6 ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นสถานที่ตั้งสถานีบริการน้ำมันของนายชัยวัฒน์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้าในขณะเกิดเหตุ นายชัยวัฒน์รู้จักกับนางสาวนันทกานต์ พยานเคยเห็นนางสาวนันท์กานต์มาพบนายชัยวัฒน์ที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้า นางสาวสาหร่าย เป็นลูกน้องของนางสาวนันทกานต์ พยานไม่เคยเห็นจำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดนายชัยวัฒน์เป็นผู้จัดการร่วมกับนายพุฒิพงษ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้าในขณะเกิดเหตุ ในส่วนการย้ายที่ตั้งสถานประกอบการของจำเลยที่ 1 นั้น ก็ได้ความจากนางสาวปารณีย์ว่ามีหนังสือเชิญเจ้าของอาคารมาพบ เจ้าของอาคารได้มอบอำนาจให้นางสาวสาหร่าย มาพบและแจ้งว่าเจ้าของอาคารได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าบ้านเลขที่ 105/1 แต่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและได้ทำหนังสือยินยอมให้ใช้อาคารเป็นสถานที่ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาวจุฑามาศที่ว่า นางสาวสาหร่ายเป็นลูกน้องของนางสาวนันทกานต์ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่ปรากฏอยู่ในบันทึกข้อความ ซึ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ว่าจะเป็นใบสั่งซื้อ ใบเสนอราคา บันทึกการตกลงราคา หลักฐานการเบิกจ่ายเงิน ใบสำคัญรับเงิน หรือใบเสร็จรับเงิน รวมถึงแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ปรากฏอยู่ ล้วนมีลักษณะการเขียนที่แตกต่างกันและไม่คล้ายคลึงกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ตามคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน รายการจดทะเบียน และใบสมัครเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ที่จำเลยที่ 2 นำสืบและอ้างเป็นพยานหลักฐาน อีกทั้งเอกสารดังกล่าวยังมีหมายเลขโทรศัพท์ของนางสาวนันทกานต์และสามีปรากฏอยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าหลังจากมีการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 อีกเลย ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม การย้ายที่ตั้งสถานประกอบการ การติดต่อกับองค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้าในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการยื่นและไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้อง พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอฟังว่า ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/5 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ.2560 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7