ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ: การตีความ 'ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม' และขอบเขตจำกัดสิทธิเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 บัญญัติรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ โดยมีข้อยกเว้นให้สามารถจํากัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น และมาตรา 26 บัญญัติให้การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ เมื่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและโดยสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ดังนั้น บทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 10 ซึ่งกําหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง อันมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมสาธารณะ การดูแลการชุมนุมสาธารณะและการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการอํานวยความสะดวกและคุ้มครองผู้ชุมนุม จึงเป็นบทบัญญัติที่จํากัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ และมีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 28 การตีความบทบัญญัติเช่นนี้ ซึ่งหมายรวมถึงลักษณะและความหมายของ "ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ" ในวรรคสอง จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และไม่อาจนําบทนิยาม "ผู้จัดการชุมนุม" ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าวมาพิจารณาประกอบดังที่จําเลยฎีกา เนื่องจากบทนิยาม "ผู้จัดการชุมนุม" ให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะอยู่แล้ว หากมาตรา 10 วรรคสอง ต้องการที่จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมต้องแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุม จึงจะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะแล้ว ก็น่าจะระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนในบทมาตรานี้ โดยไม่จําต้องระบุเงื่อนไขให้ซ้ำซ้อนในบทนิยามดังกล่าวอีก นอกจากนั้น หากแปลความดังที่จําเลยอ้าง ย่อมจะทำให้มีการเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องแจ้งการจัดการชุมนุมสาธารณะ ด้วยวิธีการที่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะอาจไม่แสดงตัว แล้วให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมแทนตนเอง หรืออาจมีการจัดการชุมนุมโดยใช้วิธีต่างคนต่างเชิญชวนให้ผู้อื่นเข้าร่วมชุมนุมสาธารณะ อันจะทำให้การบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะก่อนที่จะเริ่มมีการชุมนุมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น แม้ทางพิจารณาจะไม่ปรากฏแกนนําในการจัดชุมนุมสาธารณะตามฟ้องที่ชัดเจน แต่เมื่อจําเลยโพสต์ข้อความลงในระบบคอมพิวเตอร์บนเว็บไซต์เฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด และต่อมามีการจัดการชุมนุมดังกล่าวขึ้นโดยไม่มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมิได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10