โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ราคาที่ดิน 1,500,000 บาท แก่โจทก์ ให้ขับไล่จำเลยทั้งสามพร้อมบริวาร และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 29253 ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินทรัพย์มรดกอีก ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์และค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามพร้อมบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากทรัพย์มรดก หรือหยุดรบกวน หรือยุ่งเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดก
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามดำเนินการเพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 29253 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2545 นิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2556 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2556 มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า นาง ต. ผู้ตายเป็นภริยานาย ห. มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ จำเลยที่ 1 นาย ว. และนาย บ. โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ได้รับการรับรองแล้วของนาย ว. กับนาง น. เกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2533 และวันที่ 13 ตุลาคม 2550 นาย ว. กับนาย บ. และนาย ห. ถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2535 นาง ต. ถึงแก่ความตาย นาง ต. ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทโฉนดเลขที่ 29253 เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 46 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 7568 เนื้อที่ 2 งาน 60 ตารางวา ครั้นวันที่ 20 กันยายน 2536 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาง ต. ผู้ตาย หลังจากนั้น วันที่ 12 มิถุนายน 2545 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทเป็นของตนเอง และวันที่ 4 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และวันที่ 5 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 2 ขายที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ประเด็นนี้แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาง ต. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกของนาง ต. ผู้ตายให้แก่ทายาท หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 ยังไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทเนื่องจากขณะนั้นโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์ โดยจะรอให้โจทก์บรรลุนิติภาวะเสียก่อน แต่ในขณะที่โจทก์จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจะเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษา นาง น. มารดาของโจทก์มีความเดือดร้อนเรื่องเงินจึงมาขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของนาง ต. ผู้ตาย มารดาของโจทก์ยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และวัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลง แต่การที่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้อำนาจปกครองโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะทายาทที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่มารดาของโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (4) การที่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลังเงิน 10,000 บาท และวัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงตามทางนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และ 252 และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อฟ้องโจทก์เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทตามคำฟ้องหรือไม่ ประเด็นนี้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นว่า การที่นาง น. มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงโดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และวัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงตามทางนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (4) ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทตามคำฟ้อง อันถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์เพียงแต่ยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทเป็นของตนเอง หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และวันที่ 5 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 2 ขายที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น อันเป็นการยักยอกทรัพย์มรดก ต้องถูกกำจัดจากการเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนาง ต. ผู้ตาย ที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทจึงตกทอดแก่โจทก์ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ นิติกรรมการซื้อขายที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ตกเป็นโมฆะ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาท โดยตามคำฟ้องโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทมาโดยมิได้เสียค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต และมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ถือว่าตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะหักล้างบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ด้วยเหตุนี้เอง ข้อเท็จจริงต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต แม้โจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทอันเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นเมื่อยังมิได้จดทะเบียน ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 และที่ 3 บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องเพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาท เพื่ออาศัยเป็นฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทตามคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งของโจทก์นั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามในประเด็นนี้ฟังขึ้น ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกหรือไม่ เพียงใด ประเด็นนี้โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น อันเป็นการยักยอกทรัพย์มรดก ต้องถูกกำจัดจากการเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนาง ต. ผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 โอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทเป็นของตนเองเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และวันที่ 5 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 2 ขายที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แต่ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า นาง ต. ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาท และที่ดินตามสำเนาโฉนดเลขที่ 7568 โจทก์ในฐานะทายาทของนาง ต. ผู้ตายย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกในที่ดินทั้งสองแปลง แต่โจทก์กลับใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนาง ต. ผู้ตายเฉพาะที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาท ทั้งที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาทเป็นของตนเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 และโอนที่ดินทรัพย์มรดกตามสำเนาโฉนดเลขที่ 7568 เป็นของตนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2549 นับว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ทางนำสืบโจทก์ยังปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์และนาง น. มารดาของโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า นับตั้งแต่โจทก์และนาง น. มารดาของโจทก์ไปปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของบิดานาง น. โจทก์และนาง น. มารดาของโจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาท คงมีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปี 2556 จากนั้นขายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาท และปัจจุบันจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์และมารดาของโจทก์โต้แย้งคัดค้านหรือแจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบว่า จำเลยที่ 1 ยักย้ายหรือปิดบังที่ดินทรัพย์มรดกแปลงพิพาท อันเป็นการยักยอกทรัพย์มรดก ต้องถูกกำจัดจากการเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนาง ต. ผู้ตายตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้องแต่ประการใด นับว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุและผลเป็นอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้พยานหลักฐานตามทางนำสืบโจทก์ไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอแก่การรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติสมแก่ภาระการพิสูจน์ว่า จำเลยที่ 1 ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น อันเป็นการยักยอกทรัพย์มรดก ต้องถูกกำจัดจากการเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนาง ต. ผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ