โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินในส่วนค่าเสียหายจากการสั่งซื้อสินค้าในอัตราร้อยละ 20 ของยอดการสั่งซื้อสินค้าทั้งหมด ของบริษัท ซ. เป็นค่าเสียหาย 1,818,172.88 บาท บริษัท ว. เป็นค่าเสียหาย 330,104.80 บาท ในฐานะลูกจ้างและตัวแทนของโจทก์เรียกและได้รับเงินผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการแผนกจัดซื้อและในฐานะตัวแทนของโจทก์จากบริษัท อ. เป็นเงิน 1,224,383 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. เป็นเงิน 5,360,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,733,160.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 8,733,160.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 26 เมษายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินที่ได้รับจากบริษัท อ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. คืนแก่โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการสั่งซื้อสินค้าบริษัท ซ. ในอัตราร้อยละ 18 ของยอดเงิน 9,090,864.40 บาท กับค่าเสียหายจากการสั่งซื้อสินค้าบริษัท ว. เป็นเงิน 330,104.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 26 เมษายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า ที่ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยใช้เงินที่จำเลยได้รับจากบริษัท อ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. ให้แก่โจทก์ เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องข้อ 1 เกี่ยวกับสถานะของโจทก์ วัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจและโจทก์มีโครงการก่อสร้างอาคารโรงงานอีก 2 แห่ง โดยมอบหมายให้ลูกจ้างของโจทก์ช่วยเหลือดูแลการดำเนินโครงการจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะฝ่ายจัดซื้อต้องเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรในการก่อสร้างโรงงานจำนวนมากและมีมูลค่าสูง ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อมีหน้าที่คัดสรร ตรวจสอบผู้จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ คำฟ้องข้อ 2 บรรยายถึงสถานะของจำเลยและนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยเป็นอดีตลูกจ้างของโจทก์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการแผนกจัดซื้อ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการคัดสรร คัดเลือก ตรวจสอบผู้จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ เปรียบเทียบราคาและบริการต่าง ๆ ให้ตรงตามความต้องการใช้งานของโจทก์ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจำเลยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของสัญญาจ้างและระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์ รักษาผลประโยชน์ของโจทก์ในการจัดซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ และต้องมีหน้าที่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามคำสั่งของโจทก์ ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ต้องคัดสรร คัดเลือก และติดต่อประสานงานพบปะกับผู้จำหน่ายสินค้าและบริการต่าง ๆ จำเลยกระทำในฐานะตัวแทนของโจทก์ หากจำเลยได้รับเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดสืบเนื่องจากการเป็นตัวแทนของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการทั้งสิ้น คำฟ้องข้อ 3 บรรยายถึงขั้นตอนการจัดซื้อสินค้าและบริการของโจทก์ คำฟ้องข้อ 4 บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและประพฤติผิดสัญญาจ้างไม่เอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการของโจทก์ด้วยความระมัดระวัง และกระทำการอันเป็นการขัดแย้งกับผลประโยชน์ของโจทก์ด้วยการแนะนำผู้จำหน่ายสินค้าที่ตนเองสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีส่วนได้เสียให้มาเป็นคู่ค้ากับโจทก์ เรียกรับเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นจากบรรดาผู้จำหน่ายสินค้าหรือบริการของโจทก์ และนำเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยคำฟ้องข้อ 4.1 บรรยายกรณีจำเลยแนะนำบริษัท ซ. และบริษัท ว. ให้เข้ามาเป็นคู่ค้ากับโจทก์ แต่จำเลยปกปิดข้อเท็จจริงสำคัญโดยมีเจตนาทุจริตต่อโจทก์และมีผลประโยชน์ทับซ้อน คำฟ้องข้อ 4.2 บรรยายกรณีจำเลยเรียกรับเงินผลประโยชน์จากบริษัท อ. โดยอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ในการสรรหาคัดเลือกผู้จำหน่ายสินค้าและบริการ ตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและเปรียบเทียบราคาและสั่งซื้อสินค้า เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการเป็นตัวแทนของโจทก์ดังกล่าว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งคืนแก่โจทก์ทั้งสิ้น โจทก์ตรวจสอบหลักฐานพบว่าจำเลยเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัท อ. จากการที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทดังกล่าว และตอนท้ายของคำฟ้องข้อ 4.2 นี้ โจทก์บรรยายว่า จากการประพฤติปฏิบัติผิดสัญญาและทุจริตต่อหน้าที่ทำให้จำเลยได้รับเงินผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและในฐานะตัวแทนของโจทก์ไปจากบริษัท อ. เป็นเงินทั้งสิ้น 1,224,383 บาท ซึ่งจำเลยมีหน้าที่นำส่งเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และโจทก์บรรยายคำฟ้องข้อ 4.3 ว่าจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์เรียกรับเงินผลประโยชน์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. โจทก์ตรวจพบว่าจำเลยได้รับเงินจากห้างดังกล่าว 5,360,500 บาท จำเลยในฐานะลูกจ้างและในฐานะตัวแทนของโจทก์ได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและตัวแทนของโจทก์โดยทุจริตจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. จึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และโจทก์บรรยายคำฟ้องข้อ 5 สรุปค่าเสียหายที่เรียกร้องจากจำเลยแต่ละรายการ เห็นได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2 ได้อ้างไว้ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน และคำฟ้องในข้อ 4 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและประพฤติผิดสัญญาจ้าง แม้คำฟ้องข้อ 4.2 ในตอนต้นโจทก์จะบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ก็ตาม แต่ในตอนท้ายของคำฟ้องข้อ 4.2 นี้ โจทก์ก็ยังบรรยายเน้นย้ำว่าการประพฤติปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานและทุจริตต่อหน้าที่ของจำเลยทำให้จำเลยได้รับผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและตัวแทนของโจทก์ไปจากบริษัท อ. ส่วนคำฟ้องข้อ 4.3 โจทก์ก็ได้บรรยายมาด้วยว่าจำเลยในฐานะลูกจ้างและในฐานะตัวแทนของโจทก์ได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการแผนกจัดซื้อและตัวแทนของโจทก์โดยทุจริตจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. ไปเป็นเงิน 5,360,500 บาท จำเลยจึงมีหน้าที่ส่งเงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ในข้อ 4.2 และข้อ 4.3 หาได้บรรยายมาแต่เพียงว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์เพียงประการเดียวไม่ แต่คำฟ้องดังกล่าวเป็นการบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์มาด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีส่วนนี้ว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องชำระเงินค่าสินค้าเกินกว่าราคาที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 3 จำเลยจึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยเรียกรับจากบริษัท อ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. จึงหาได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นดั่งที่ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยมาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดคืนเงินที่จำเลยรับมาจากทั้งสองนิติบุคคลดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินที่จำเลยเรียกรับจากบริษัท อ. 1,224,383 บาท และในส่วนที่จำเลยเรียกรับผลประโยชน์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. 5,360,500 บาท ให้แก่โจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย
อนึ่ง ที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยของค่าเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นมา โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าเสียหายในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดใช้เงินส่วนที่เรียกรับจากบริษัท อ. 1,224,383 บาท และส่วนที่จำเลยเรียกรับจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. 5,360,500 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวและในต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 26 เมษายน 2562) เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ