ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปรับโครงสร้างหนี้, รับสภาพหนี้, และสิทธิของเจ้าหนี้ในการรับชำระหนี้จากผู้จำนองและลูกหนี้
ในการทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่าง อ. และโจทก์ที่ 2 กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย นั้น มีวัตถุประสงค์ระบุไว้ในข้อ 2 ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของ อ. และโจทก์ที่ 2 และให้ถือว่าเป็นเพียงข้อตกลงรับสภาพหนี้ และ/หรือผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ ไม่ใช่การระงับหนี้เดิม มูลหนี้เดิมรวมทั้งหลักประกันยังคงมีอยู่โดยไม่ถูกกระทบกระเทือน และใน ข้อ 1 ให้คำนิยามศัพท์ "มูลหนี้เดิม" หมายถึง "สิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ที่สถาบันผู้โอนมีอยู่ต่อลูกหนี้...และ บสท. (บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว...ตามสัญญาโอนสินทรัพย์..." ซึ่งมูลหนี้เดิมดังกล่าว อ. และโจทก์ที่ 2 ยอมรับสภาพหนี้ไว้ในข้อ 3 ว่า ในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 ช. ซึ่งเป็นลูกหนี้เป็นหนี้ตามมูลหนี้เดิม 29,391,445.67 บาท และสัญญา ข้อ 4 ระบุการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ให้ อ. และโจทก์ที่ 2 ชำระหนี้เพียง 15,200,000 บาท บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่ อ. และโจทก์ที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมผู้จำนองทำไว้ดังกล่าว จึงเป็นการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้อันเป็นการรับสภาพในมูลหนี้เดิม 29,391,445.67 บาท แต่ให้ อ. และโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองทั้งสองชำระหนี้บางส่วนเพียง 15,200,000 บาท มิใช่เป็นการปลดหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมผู้จำนองทุกคน ดังนั้น เมื่อ อ. กับโจทก์ที่ 2 ชำระเงินไปเพียง 200,000 บาท จึงยังคงต้องรับผิดชำระอีก 15,000,000 บาท โดยต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองตามส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์ของตนไปชำระให้แก่จำเลยให้ครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ส่วนที่บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ข้อ 21 ที่ระบุว่า เมื่อ อ. และโจทก์ที่ 2 ปฏิบัติตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ครบถ้วนแล้ว ให้ถือว่า อ. และโจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามมูลหนี้เดิมนั้น ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุให้ ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดตามมูลหนี้เดิมด้วย บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เจ้าหนี้ว่าไม่ประสงค์จะเรียกให้ อ. และโจทก์ที่ 2 ชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 เท่านั้น ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ ยังคงต้องรับผิดอยู่ตามจำนวนมูลหนี้เดิม ดังนั้น แม้จำเลยจะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดในส่วนกรรมสิทธิ์ของ ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ แล้ว 11,277,358.84 บาท ก็ไม่มีผลทำให้ ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามมูลหนี้เดิมแต่อย่างใดเพราะหนี้ยังไม่ได้ชำระโดยสิ้นเชิง ดังนี้ โจทก์ทั้งสองจึงคงต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองขอชำระหนี้เพียง 3,722,641.16 บาท จำเลยย่อมมีสิทธิไม่รับชำระหนี้ดังกล่าว การที่จำเลยยื่นคำคัดค้านและขอรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดในส่วนของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่เป็นการผิดบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้