คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ โจทก์จึงขอบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๑๓๙ และเลขที่ ๒๒๗๒๐ ถึง ๒๒๗๒๗ ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของจำเลย และนำออกขาย ทอดตลาดได้เงินทั้งสิ้น ๑,๔๕๔,๐๐๐ บาท ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จแล้ว คงมีเงินเหลือเพื่อ คืนให้จำเลยอีก ๙๘๙,๓๔๙.๕๑ บาท เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๓ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำแถลงต่อ เจ้าพนักงานบังคับคดีขอรับเงินดังกล่าวคืน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่าผู้ร้องมาขอรับเงินส่วนที่เหลือเกินกว่า ๕ ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๓๒๓ เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดิน เห็นควรนำเงินดังกล่าวส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีหมายแจ้งให้จำเลยมารับเงินส่วนที่เหลือคืนโดยวิธี ปิดหมายเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ซึ่งเวลาดังกล่าวจำเลยเป็นคนสาบสูญแล้ว เนื่องจากจำเลยไปจากภูมิลำเนาและไม่มีใครรู้แน่ว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ถือได้ว่าจำเลยมิได้รับหมายและยังไม่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องทราบว่าจำเลยมีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนเมื่อปลายเดือนตุลาคม ๒๕๔๒ ย่อมมีอำนาจร้องขอคืนเงิน ดังกล่าวได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๕ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๑๓๙ และเลขที่ ๒๒๗๒๐ ถึง ๒๒๗๒๗ ตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้แก่ผู้ซื้อซึ่งชำระราคาแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย เสร็จในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๕ เมื่อหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีพร้อมกับชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์แล้ว มีเงินคงเหลือสุทธิคืนให้แก่จำเลย ๙๘๙,๓๔๙.๕๑ บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลส่งบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ดังกล่าวให้จำเลยทราบรวม ๒ ครั้ง ครั้งแรกวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๕ และครั้งที่สองวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๖ โดยวิธีปิดหมายทั้งสองครั้ง ต่อมาวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเป็นคนสาบสูญแล้ว ได้ยื่นคำร้องขอเงินค้างจ่าย ๙๘๙,๓๔๙.๕๑ บาท ให้แก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมคืนให้ อ้างว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นระยะเวลาเกิน ๕ ปี เงินค้างจ่ายดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๓๒๓
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอเงินค้างจ่าย ๙๘๙,๓๔๙.๕๑ บาท อยู่ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา ๓๑๖ กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้มาจากการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อจัดสรรหรือแบ่งเฉลี่ยเงินให้แก่ผู้มีสิทธิ และตามมาตรา ๓๑๘ ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่คนเดียวร้องขอให้บังคับคดี เมื่อได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินตามจำนวนหนี้ในคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพียงเท่าที่ เงินรายได้จำนวนสุทธิจะพอแก่การที่จะจ่ายให้ได้ และหากยังมีเงินเหลืออยู่ภายหลังจากนั้น มาตรา ๓๒๒ วรรคสอง กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้ส่วนที่เหลือให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหลังจากมีการจำหน่ายทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว คือการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย และการจ่ายเงินตามบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย โดยเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย เสร็จแล้ว ก็ต้องดำเนินการให้มีการจ่ายเงินตามบัญชีนั้นต่อไป ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดียังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติโดยมีคำสั่งหรือดำเนินการใดเพื่อให้มีการจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย เช่น ส่งบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ให้จำเลยทราบแล้ว จึงจะถือว่าเงินส่วนที่เหลือนั้นเป็นเงินค้างจ่ายอยู่ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ผู้มีสิทธิต้องเรียกร้องเอาภายใน ๕ ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๓๒๓ การปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวหาใช่เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ วินิจฉัยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้จำเลยเป็นคนสาบสูญว่า จำเลยหายไปจากบ้านตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ โดยไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย ผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยซึ่งเป็นคนสาบสูญ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ ทั้งในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เนื่องจากเจ้าพนักงานศาลผู้ส่งหมายรายงานผลการส่งหมายในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๔ ว่า จำเลยออกจากบ้านไปนานแล้ว ส่วนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลส่งบัญชีทรัพย์แสดงรายการรับ - จ่าย ให้จำเลยทราบพร้อมทั้งแจ้งให้จำเลยมารับเงิน ส่วนที่เหลือคืน ๒ ครั้ง โดยวิธีปิดหมายที่ภูมิลำเนาของจำเลยอีกแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๕ และวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๖ เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งหมายก็รายงานทำนองเดียวกันว่าจำเลยออกจากบ้านไปนานแล้ว ทั้งขณะนั้นก็เป็นระยะเวลาที่จำเลยไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครรู้เห็นว่าจำเลยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ไม่อยู่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้จำเลยมารับเงินส่วนที่เหลือแล้ว เมื่อผู้ร้องในฐานะ ผู้จัดการมรดกของจำเลยเรียกเอาในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๓ จึงยังไม่พ้นระยะ ๕ ปี นับแต่ปลายเดือนตุลาคม ๒๕๔๒ อันเป็นวันที่ผู้ร้องทราบว่ามีเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับคืนค้างจ่ายอยู่ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเอาได้ เงินจำนวนดังกล่าวจึงยังไม่ตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๓๒๓ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่ค้างจ่าย ๙๘๙,๓๔๙.๕๑ บาท ให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสามศาลให้เป็นพับ .