โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำผิดหลายกระทงคือ ก. มีอาวุธปืนและมีดพยายามฆ่า จ. และ ข. เมื่อทำร้าย จ. แล้วได้ร่วมกันลักปืนของ จ. ฉกฉวยเอาไปซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288,336 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 33 ปี 4 เดือน ตามมาตรา 288,80, 83 กระทงหนึ่ง จำคุก 3 ปี ตามมาตรา 336 อีกกระทงหนึ่ง ริบของกลางกับให้ใช้ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เฉพาะความผิดตาม มาตรา 336 จำเลยไม่ได้เจตนาร่วมกันกระทำ จำเลยที่ 1 ผู้เดียวยิง เอาปืน จ. ไป เมื่อยิง จ. แล้วจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 335(7) นอกจากนี้บังคับตามศาลชั้นต้นโจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 6 นาฬิกานายจำแลง ภาสกนธ์ ผู้เสียหาย และนางสมคิด ภาสกนธ์ ภริยาผู้เสียหายกำลังเดินไปตามถนนสายเงิน ซึ่งแยกจากถนนลานสกาจะไปกรีดยางที่สวนยางของผู้เสียหาย เมื่อไปห่างบ้านที่อยู่ประมาณ 3 เส้น ผู้เสียหาย นางสมคิด ภาสกนธ์พบจำเลยที่ 1 ถือปืนลูกซองสั้น จำเลยที่ 2 ถือขวานยืนอยู่ข้างถนน ผู้เสียหายถามจำเลยที่ 1 ว่าไปไหน จำเลยที่ 1 ตอบว่าไปเที่ยว แล้วผู้เสียหายเดินผ่านไปจำเลยทั้งสองเดินตามหลังผู้เสียหายในระยะห่างประมาณ 1 ศอก โดยเดินอยู่ข้างหน้านางสมคิด ภาสกนธ์ ผู้เสียหายหลบเข้าข้างทางด้านขวามือ จำเลยที่ 1บอกให้หยุดผู้เสียหายหันไปดู จำเลยที่ 1 จ้องปืนตรงหน้าอกผู้เสียหาย ผู้เสียหายปัดปืนนั้นก็ลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด ผู้เสียหายชักปืนสั้นจากเอวจ้องไปที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แย่งปืนจากผู้เสียหาย ปืนของผู้เสียหายลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด จำเลยที่ 1 ร้องเรียกให้จำเลยที่ 2 ช่วยจำเลยที่ 2 ซึ่งยืนคุมนางสมคิด ภาสกนธ์อยู่ ได้วิ่งไปใช้ขวานฟันถูกหน้าผู้เสียหาย 3 ครั้ง ปืนหลุดจากมือผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 แย่งปืนได้ก็ใช้จ่อยิงตรงริมฝีปากด้านซ้าย 1 นัด กระสุนทะลุแก้มขวา ฟันข้างบนข้างล่างหักหมด ผู้เสียหายล้มลงหมดสติ จำเลยที่ 1 เอาปืนของผู้เสียหายหนีไป พร้อมกับจำเลยที่ 2" ฯลฯ
"ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในกระทงความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์อย่างหนึ่งอย่างใดจึงเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 วรรคแรก เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ก็ลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จะลงโทษตามมาตรา 335(7) ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวอ้างมาตรานี้มาในฟ้องไม่ได้ทั้งตามมาตรา 335(7) ก็มีโทษหนักกว่ามาตรา 336 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 335(7) จึงเป็นการเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2130/2514 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ เรือโทอำพลอยู่ยงสินธ์ จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 กำหนดโทษในกระทงความผิดนี้จำคุก1 ปี ไม่ริบมีดตัดยางของกลาง ให้คืนเจ้าของไป นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์"